เปิดสาเหตุ 5 คนงานเสียชีวิตในบ่อปลาร้า
เปิดสาเหตุ 5 คนงานเสียชีวิต ในบ่อหมักปลาร้า ของโรงงานปลาร้า จ.เพชรบูรณ์ ผู้ว่าฯสั่งตรวจสอบ ขณะที่อุตสาหกรรมจังหวัดพบไม่เข้าข่ายโรงงาน
10 ธ.ค. 2567 จากเหตุคนงาน 5 ราย เสียชีวิตในบ่อปลาร้า หรือบ่อหมักปลาร้า ในโรงงานปลาร้าแห่งหนึ่ง ต.หนองไขว่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เมื่อเย็นวันที่ 9 ธ.ค. 2567 ทราบชื่อผู้เสียชีวิต ประกอบด้วย 1.นายหลำ เรืองน้อย อายุ 76 ปี ชาว จ.เพชรบูรณ์ 2.นายเอือก สมกำลัง อายุ 70 ปี ชาว จ.เพชรบูรณ์ 3.นายจักรกฤษ เสนานุช อายุ 50 ปี ชาว จ.เพชรบูรณ์ 4.นายศุภกฤษ ชาติเชื้อ อายุ 30 ปี ชาวจ.เพชรบูรณ์ และ 5.นายกุลชาติ อำนวยมงคลพร หรือ เฮียหวาน อายุ 41 ปี ชาว จ.นครราชสีมา ผู้จัดการร้าน และ ลูกเขยเจ้าของโรงงานปลาร้า
ล่าสุด วันนี้ นายศรัณยู มีทองคำ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ สั่งการให้ นายภาคภูมิ ภูมี นายอำเภอหล่มสัก พร้อมด้วย นายพสุ สุครีวก อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ , นายธงชัย เสนาะศรีตระกูล หน.ปภ.จ.เพชรบูรณ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบ ร่วมกับ พล.ต.ต.สารนัย คงเมือง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบูรณ์ และ พ.ต.อ.รัง ดาวดึงส์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหล่มสัก
จากการสอบสวนเบื้องต้น ทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ นายราชัย ส่งจิตต์สวัสดิ์ อายุ 65 ปี ชาว จ.เพชรบูรณ์ เจ้าของกิจการ ตามคนงานให้มาล้างบ่อปลาร้าดังกล่าว ซึ่งเป็นบ่อเก่า เพื่อเตรียมไว้หมักปลาร้าในวันถัดไป ต่อมาในช่วงเวลาประมาณ 16.30 น. นายวินัย ศรีวิไลย์ อายุ 45 ปี คนงานที่กลับมาจากส่งของ มาพบว่า มีคนเสียชีวิตอยู่ในบ่อ จำนวน 5 คน โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นเพื่อนคนงานด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุ พนักงานสอบสวน สภ.หล่มสัก ได้ประสานเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน จ.เพชรบูรณ์ , แพทย์เวร รพ.หล่มสัก และแพทย์นิติเวช รพ.เพชรบูรณ์ มาร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุ และชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต เบื้องต้นไม่พบร่องรอยการต่อสู้ และไม่มีบาดแผลฉกรรจ์ที่จะทำให้เสียชีวิต รวมทั้งทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตทุกคนก็ยังอยู่ครบ
เบื้องต้นสันนิษฐานสาเหตุว่า ขณะที่ผู้เสียชีวิต ลงไปภายในบ่อ แต่เนื่องจากภายในบ่ออาจมีก๊าซบางอย่าง จนทำให้เกิดการขาดอากาศหายใจ หรือขาดออกซิเจน อาจเกิดจากก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
ทั้งนี้ได้มีการประสานให้ อบต.หนองไขว่ ตรวจสอบการ ขออนุญาตทำกิจการผลิตปลาร้าของโรงงานดังกล่าวว่า ได้มีการขออนุญาต ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
นอกจากนี้ ทางอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ตรวจสอบสถานะของผู้ประกอบการแล้ว โดยพบว่า ไม่เข้าข่ายการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานด้านสาธารณสุข แรงงาน ประกันสังคม และหน่วยกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป