ศาลไม่เพิกถอนประกันตัว "ไอซ์ รัชนก" ระหว่างอุทธรณ์คดี 112
"ไอซ์ รักชนก" รอด ศาลไม่เพิกถอนประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี 112 กำชับปฏิบัติตามเงื่อนไขเคร่งครัด เจ้าตัวตัดพ้อจ้องแต่เล่นงาน "พรรคประชาชน"
11 ธ.ค. 2567 น.ส.รักชนก ศรีนอก หรือ ไอซ์ ส.ส.พรรคประชาชน(ปชน.) เดินทางมาที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อฟังคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว คดีดูหมิ่นสถาบัน หมายเลขดำอ.683/2565 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
โจทก์ฟ้องสรุปว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน จำเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์ โดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยจำเลยใช้บัญชีทวีตเตอร์ “ไอซ์ หรือ @nanaicez” ของจำเลยโพสต์ (Tweet)
คดีนี้ศาลมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (2)
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ จำคุก กระทงละ 3 ปี รวมสองกระทง คงจำคุก 6 ปี
น.ส.รักชนก ได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
ตีราคาประกันวงเงิน 500,000 บาท โดยศาลได้กำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการหรือร่วมกิจกรรมลักษณะเดียวกันกับข้อหาตามคำฟ้องและหรือมีพฤติการณ์ใดๆ ในลักษณะและข้อหาเดียวกัน
ต่อมาวันที่ 28 ต.ค. 2567 นายทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร ที่ปรึกษาธุรกิจและนักวิชาการอิสระ ยื่นคำร้องขอตรวจสอบหลักทรัพย์และคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว น.ส.รักชนก เนื่องจากระหว่างการประกันตัว น.ส.รัชนก ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ส่วนตัวพาดพิงสถาบัน ซึ่งผิดเงื่อนไขการประกันตัว
ต่อมาวันที่ 26 พ.ย. 2567 ศาลอาญาได้ไต่สวนนายทันกวินท์ผู้ร้อง และ น.ส.รัชนก จนแล้วเสร็จ และนัดฟังคำสั่งในวันนี้
โดยวันนี้ศาลพิจารณาคำร้องเเละไต่สวนเเล้วมีคำสั่งยกคำร้องและกำชับให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวอย่างเคร่งครัด
ต่อมา น.ส.รักชนก ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังคำสั่งศาลแล้วว่า ศาลยกคําร้องไม่เพิกถอนประกัน โดยเรื่องนี้ผู้ร้องยกเหตุผลมามีสองข้อคือ หลังจากที่นายชัยธวัช ตุลาธน หลุดจากการเป็น สส. ทําให้มีปัญหาเรื่องหลักประกัน ซึ่งทางตนได้เปลี่ยนเป็นหลักประกันเป็นเงินสดแล้ว จํานวนเท่าที่ศาลแจ้งเอาไว้
ข้อต่อมาคือ ตนได้ละเมิดข้อกำหนดของศาล โดยเอาโพสต์ในเฟสบุ๊กเกี่ยวกับการตั้งคําถามกับกองทัพ เรื่องพลทหารไปซักกางเกงในให้เมียนายทหาร เรื่องเกี่ยวกับรณรงค์การยกเลิกเกณฑ์ทหาร เป็นการด้อยค่ากองทัพ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นจอมทัพไทย ดังนั้นการด้อยค่าพลทหาร เป็นการด้อยค่ากองทัพก็คือกระทบกระเทือน เชื่อมโยง ถึงคดี112 แต่ศาลได้พิพากษาว่า เรื่องหลักทรัพย์ มีการไปเปลี่ยนหลักทรัพย์แล้วเรียบร้อย ส่วนเรื่องที่โพสต์เกี่ยวกับกองทัพก็เป็นการแสดงความคิดเห็นทั่วไป จึง ยกคำร้อง
น.ส.รัชนเก กล่าวว่า วันนี้ศาลไม่ได้เพิ่มข้อกําหนดใดๆ ดังนั้นตนคิดว่าในฐานะผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกมา ตนไม่ควรที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะว่าตนมีหน้าที่พูดเพื่อคนอื่นหลายๆเรื่องที่เราได้วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นผลประโยชน์สาธารณะ แล้วทุกอย่างที่เราพูดไป คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือประชาชนทุกคน การที่ตนพูดถึงเรื่องการใช้งบประมาณ ภาษีให้มันคุ้มค่า วิญญูชนประชาชนทั่วไป ที่รักในสิทธิเสรีภาพ รักในความถูกต้องก็น่าจะเข้าใจว่าสิ่งที่ตนพยายามสื่อสาร
"มองว่า การฟ้องร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นเรื่องไร้สาระและกระทบกับเวลาในการทํางานในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎร การที่ต้องออกจากประชุมมาหรือว่าจะต้องเลื่อนการประชุมมาทําคดีเหล่านี้ เดี๋ยวจะมีคําสั่งศาลอุทธรณ์ออกแน่นอยู่แล้ว คือคุณก็ให้เราทํางานให้เต็มที่ไปก่อน เพราะว่าใครๆก็รู้ว่าถ้าอยู่พรรคนี้ มันชัวร์อยู่แล้ว คุณจะทำไปทำไมให้เสียเวลาทางสังคม แทนที่สื่อจะไปงานข่าวที่สําคัญมากกว่านี้"
น.ส.รัชนก เชิญสังคมให้ตั้งคำถามว่า ทำไมมีเพียงแค่พรรคประชาชนที่ต้องเผชิญกับกระบวนการแบบนี้ จึงคาดว่า อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่อยู่เบื้องหลังของขบวนการบุคคลเหล่านี้หรือไม่ ในการจ้องจะเล่นงานพรรคประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มองยังไงกับการที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ถูกต้องคำพิพากษาในศาลชั้นต้น จะเข้าข่ายเป็นการขัดจริยธรรมนักการเมืองหรือไม่ น.ส.รักชนก ระบุว่า เป็นเรื่องที่พูดยาก แต่คาดหวังว่า ในชั้นอุทธรณ์ ตนจะได้รับความเป็นธรรม เพราะต่อสู้ในทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสามารถต่อสู้ได้ โดยตนได้ยื่นอุทธรณ์ไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรอคำสั่งศาลอุทธรณ์ แต่ไม่ทราบว่าจะมีคำตัดสินเมื่อใด