ปวีณา นำทีมผู้เสียหาย แจ้งจับ บ.อสังหาฯ เสนอปิดหนี้ หลอกซื้อคอนโดฯ หนี้พอก 3 พันล้าน
ปวีณา นำกลุ่มผู้เสียหาย เข้าแจ้งความบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เสนอปิดหนี้ หลอกลงทุนซื้อคอนโดมิเนียม สุดท้ายหนี้พอกกว่า 3,000 พันล้าน
11 ธ.ค. 2567 เวลา 10.30 น. ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(บช.ก.) นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พาผู้เสียหาย 70 ราย เข้าพบพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อแจ้งความ บริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง เสนอช่วยปิดหนี้ ก่อนหลอกลงทุนซื้อคอนโดมิเนียม เกือบ 200 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท
นายเอ (สงวนชื่อและนามสกุล ) หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนเป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลหลักหลายแสนบาท จึงต้องการลดภาระหนี้สิน โดยมองหาช่องทางทั้งสถาบันการเงินภาครัฐและเอกชน กระทั่งพบกับบริษัทอสังหาฯดังกล่าว ที่เสนอว่าจะช่วยรวมเครดิตบูโรและปิดหนี้ให้ ประกอบกับเห็นว่าบริษัทดังกล่าวมีการจดทะเบียนชัดเจน ด้วยทุนจดทะเบียน 55 ล้านบาท และเปิดมาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว จึงดูน่าเชื่อถือ
แต่หลังปิดหนี้ให้แล้ว บริษัทกลับเสนอให้ทำสัญญากู้ซื้อคอนโด 1 ห้อง เมื่อตกลงทำสัญญา บริษัทฯกลับกู้ซื้อตั้งแต่ 3-5 ห้อง โดยกู้เกินราคาจริง เช่น ห้องราคา 2-3 ล้านบาท แต่บริษัทยื่นกู้ 4-5 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทอ้างว่าจะนำห้องไปปล่อยเช่าเพื่อนำเงินมาผ่อนชำระค่างวด โดยที่ผู้เสียหายไม่ต้องจ่ายเงินชำระแต่อย่างใด และเมื่อครบสัญญาทางบริษัทก็จะมาซื้อห้องคืนจากผู้เสียหายกลับไป
กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ผู้เสียหายหลายคนเริ่มถูกติดต่อทวงถามค่างวดจากธนาคาร จึงทราบว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้มีการชำระค่างวดตามที่ตกลง จึงติดต่อกลับไปทางบริษัท แต่บริษัทอ้างว่าขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดได้ พร้อมบอกให้ผู้เสียหายไปติดต่อขอปรับโครงสร้างหนี้กับทางธนาคาร แต่เมื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ทางบริษัทก็ยังไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดได้ และบอกให้นำคอนโดฯ กลับไปบริหารจัดการเอง
จากนั้นจึงไปติดต่อกับทางคอนโดฯ จนทราบว่าที่ผ่านมาทางบริษัทปล่อยเช่าคอนโดฯในราคาที่ต่ำกว่าค่างวดที่ต้องผ่อนชำระ เช่น ค่างวด 20,000 บาทแต่บริษัทปล่อยเช่าในราคา 7,500 บาท จนต้องกลายเป็นหนี้หลักหลายล้านบาท แต่เนื่องจากบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทใหญ่ จึงไม่กล้าเข้าแจ้งความดำเนินคดี และได้ติดต่อขอความช่วยเหลือกับทางมูลนิธิปวีณาฯ
ด้าน นางปวีณา เผยว่า เมื่อทราบเรื่องดังกล่าวได้มีการติดต่อเข้าพูดคุยกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยมอบหมายให้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ดำเนินการ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้พาผู้เสียหายเข้าไปยื่นเรื่องต่อ DSI แล้ว แต่ไม่สามารถแจ้งความได้ จึงต้องเดินทางมาแจ้งความที่ บก.ปอศ. เพื่อให้พนักงานสอบสวนพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวเข้าข่ายความผิดใดบ้าง ก่อนส่งเรื่องให้ DSI ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป