เปิดอัตราโทษเมาแล้วขับ ทั้งจำทั้งปรับตามความรุนแรง และเสี่ยงโดนยึดรถ
เปิดอัตราโทษเมาแล้วขับ ทั้งจำทั้งปรับยึดใบขับขี่ ตามระดับความเสียหาย โฆษกศาลยุติธรรมชี้ อาจถูกยึดรถ เตือนปีใหม่ขับรถต้องเคารพกฎจราจร
27 ธ.ค. 2567 นายรัฐวิชญ์ อริยพัชญ์พล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 นี้ ศาลยุติธรรมมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนที่กำลังเดินทางกลับภูมิลำเนาและไปท่องเที่ยวพักผ่อนตามพื้นที่ต่างๆ ขอให้ทุกท่านเดินทางด้วยความปลอดภัย ใช้รถใช้ถนนด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัย และเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น
โดยช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ศาลยุติธรรมยังคงเปิดทำการในวันหยุดตามประกาศของศาลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อการอำนวยความยุติธรรมแก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว การพิจารณาคำร้องขอออกหมายจับ-หมายค้น หรือการพิจารณาพิพากษาคดีในบางกรณี ที่จำเป็นจะต้องตัดสินภายในกรอบระยะเวลาของกฎหมาย
โดยข้อหาที่มีการนำมาฟ้องมากที่สุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ คือ ความผิดฐานเมาแล้วขับ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(2) ซึ่งศาลสามารถใช้ดุลยพินิจลงโทษ ตามมาตรา 160 ตรี ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) หรือเมาแล้วขับ อัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
- ถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
- ถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนด ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
- ถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
ทั้งนี้ ในความผิดฐานเมาแล้วขับ แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเกิดความเสียหาย แต่หากศาลเห็นว่าเป็นการขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนที่ร่วมใช้ถนนสัญจรไปมา และเห็นว่ารถที่ขับขณะเมาสุราเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง ศาลอาจใช้ดุลพินิจสั่งริบรถดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) เช่นเดียวกับการรอการลงโทษ และการคุมประพฤติ ที่เป็นดุลพินิจของศาลในการพิจารณาพิพากษาคดีตามเงื่อนไขของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวย้ำว่า บทบัญญัติของกฎหมายมีไว้เป็นบรรทัดฐานเพื่อให้ทุกคนในสังคมปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องและอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข มั่นคง ปลอดภัย ขณะที่ศาลใช้ดุลยพินิจ ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏอย่างเหมาะสมตามพฤติการณ์เพื่อคุ้มครองทุกคน
ดังนั้น ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ให้ทุกคนตระหนักเป็นอย่างยิ่งในเรื่องการเคารพกฎจราจรและผู้ที่ใช้ถนนร่วมกัน เพื่อไม่ต้องเสียทรัพย์สิน หรือเสียเวลาในการถูกดำเนินคดี โดยเดินทางกลับบ้านร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลกับครอบครัวได้อย่างมีความสุข
---------------
ร่วมเสนอชื่อ "คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 21" (18.12.2024 - 09.01.25)
- FB : คมชัดลึก อวอร์ด (komchadluek award) https://www.facebook.com/KomChadLuekAward/
- Web : คมชัดลึก (http://awards.komchadluek.net)