เรือใบล่ม เกาะราชา จ.ภูเก็ต 38 ชีวิตปลอดภัย เจ้าท่าฯ ออกคำสั่งกู้ซากใน 15 วัน
ภูเก็ต เรือใบล่ม กลางทะเลระหว่างทางไปเกาะราชา นทท. 38 ชีวิตปลอดภัย เจ้าท่าฯ ออกคำสั่งกู้ซากใน 15 วัน เผยสาเหตุ เรือล่ม
จากกรณีเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 13 ม.ค. 2568 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต ได้รับแจ้งจากเครือข่ายทางน้ำจังหวัดภูเก็ตว่า มีเรืออับปางบริเวณทิศเหนือของเกาะราชาใหญ่ ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต ระยะประมาณ 1.6 ไมล์ ทราบภายหลัง ชื่อเรือเอมี่เรย์ 888 เป็นเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต (เรือคาตามารัน) ขนาด 44.39 ตันกรอส ใบอนุญาตใช้เรือจะหมดอายุวันที่ 24 เมษายน 2568 บนเรือมีผู้โดยสารเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน 33 คน มัคคุเทศก์ 1 คน นักศึกษาฝึกงาน 1 คน และคนประจำเรือ 3 คน รวม 38 คน
โดยช่วงเช้าวันเดียวกันเรือลำดังกล่าวได้เดินทางออกจากท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง นำนักท่องเที่ยวไปดำน้ำที่เกาะราชาใหญ่ ก่อนเกิดเหตุอยู่ระหว่างการเดินทางจากเกาะราชาใหญ่ไปยังเกาะเฮ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เรือจมนั้น เบื้องต้นได้รับแจ้งจากนายท้ายเรือว่า เกิดจากชนของแข็งที่ทำให้กระจกช่องแสงบริเวณกราบขวาของเรือหลุด ประกอบกับมีลมคลื่นลมแรงซัดน้ำเข้าตัวเรือทางหน้าต่าง ทำให้เรือเอียงและค่อยๆ จมลง ใช้เวลาประมาณ 20 นาที
ระหว่างนั้นคนบนเรือซึ่งทั้งหมดสวมเสื้อชูชีพอยู่ที่เรือและลอยอยู่รอบๆ มีเรือที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเข้าช่วยเหลือนำขึ้นฝั่งที่เกาะราชา เกาะเฮและเรือที่ให้การช่วยเหลือก่อนที่เรือของศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต หรือศูนย์ไข่มุก เรือบริษัทเอกชน และเรือที่อยู่ข้างเคียงนำกลับขึ้นฝั่งที่ท่าเทียบเรืออ่าวฉลองปลอดภัยทุกคน
นายณชพงศ ประนิตย์ ผู้อำนวยการเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต กล่าวว่า หลังได้รับแจ้งจากเครือข่ายได้ประสานเรือต่างๆ ที่อยู่ข้างเคียงตลอดจนศูนย์ไข่มุกภูเก็ตเข้าให้การช่วยเหลือจนผู้อยู่บนเรือทุกคนปลอดภัย ก่อนที่เรือจมลงทะเล ซึ่งในช่วงเย็นวันเดียวกันสำนักงานเจ้าท่าฯ ภูเก็ต ได้ออกประกาศชาวเรือให้ระมัดระวังการเดินเรือ หรือหลีเลี่ยงเส้นทางเดินเรือ โดยเฉพาะบริเวณที่เรือจม เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้เจ้าของเรือกู้เรือภายใน 15 วัน และเนื่องจากบริเวณที่มีเรืออับปางนั้นน้ำลึกประมาณ 40 เมตร ซึ่งลักษณะของเรือที่จมนั้นมีเสาด้วย โดยความสูงของเรืออยู่ที่ประมาณ 12-13 เมตร และความสูงของเสาเรือประมาณ 20 เมตร รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 30 เมตร ซึ่งเรือมีการจมในลักษณะตั้งตรงและเรืออาจจะลอยขึ้นมาได้จะเป็นอันตรายกับเรือที่สัญจรไปมา เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางเดินเรือท่องเที่ยวหลักด้วย จึงได้แจ้งให้เจ้าของเรือดำเนินการติดตั้งทุ่นเครื่องหมายแสดงการเดินเรือทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อความปลอดภัย
ส่วนของกรณีคราบน้ำนั้นเนื่องจากเรือลำนี้เป็นเรือคาตามารัน 2 ท้อง ใช้เครื่องยนต์ดีเซล มีขนาด 45 แรงม้าต่อเครื่อง และขนาดของถังน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ใหญ่นัก สอบถามทางเจ้าของเรือได้มีการปิดวาลว์แล้ว ปริมาณน้ำมันประมาณ 100 ลิตร ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด ทั้งนี้จะมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริงและสาเหตุของเรือจมตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ขณะที่มูลค่าความเสียหายของเรือลำดังกล่าว คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามทางนายณชพงศ กล่าวถึงการเพิ่มมาตรการเรื่องความปลอดภัยว่า ทางนายประเวศน์ สุภาชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 ได้เชิญผู้อำนวยการเจ้าท่าในฝั่งอันดามันและผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม และได้กำชับแนวทางในการให้บริการนำเที่ยวทางทะเลตามคำสั่งของอธิบดีกรมเจ้าท่า ให้เข้มงวดเรื่องการสวมเสื้อชูชีพ โดยเฉพาะเรือโดยสารที่มีลักษณะเป็นดาดฟ้าเปิด เช่น เรือหางยาว เรือสปีดโบ๊ท เป็นต้น ซึ่งเรือลำที่เกิดเหตุจมนั้นก็เช่นกัน เพื่อความปลอดภัย โดยผู้ที่อยู่บนเรือที่มีลักษณะดังกล่าวต้องสวมเสื้อชูชีพตลอดเวลาที่ท่องเที่ยวทางทะเล พร้อมทั้งให้ทำแผนดำเนินการให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด ซึ่งของภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็นเรือหางยาวบริเวณหาดราไวย์ ป่าตอง กะตะกะรน แหลมหิน แหลมพันวา และชายหาดอื่นๆ ทั้งหมด ที่จะต้องเข้ามาเข้มงวดการสวมเสื้อชูชีพ เห็นได้จากกรณีเรืออับปางดังกล่าวนักท่องเที่ยวทั้งหมดสวมเสื้อชูชีพ จึงไม่เกิดความการสูญเสียขึ้น