DSI ฟ้องหมิ่นฯ "เอก สายไหมต้องรอด" กล่าวหา "เทวดา" ช่วยเหลือ ดิไอคอน กรุ๊ป
DSI แจ้งความเอาผิด "เอก สายไหมต้องรอด" ข้อหาหมิ่นประมาทฯ ให้สัมภาษณ์ช่วยเหลือคดี ดิไอคอน กรุ๊ป เผยใส่ความ ปราศจากพยานหลักฐาน
14 ม.ค. 2568 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับ นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด และผู้ที่เกี่ยวข้องในความผิดฐาน หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และมาตรา 328
โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2567 นายเอกภพ และ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เดินทางมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษและให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อประมาณช่วงปี พ.ศ. 2564 ถึง 2565 มีบุคคลซึ่งนายเอกภพ กล่าวใส่ความว่า “เทวดา” ในหน่วยงานของรัฐหลายหน่วย ซึ่งหมายความรวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น ให้ความคุ้มครองดูแล บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด เพื่อมิให้ถูกดำเนินคดี
เมื่อบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด มีการกระทำความผิดตามกฎหมาย กรมสอบสวนคดีพิเศษ เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างกว้างขวางและอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศ จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับในเรื่องดังกล่าวและผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า "เรื่องดังกล่าวไม่มีมูลความจริง" แต่ด้วยพฤติการณ์ของ นายเอกภพ กับพวก ได้กล่าวยืนยันในข้อเท็จจริงลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนทั่วไปหลงเชื่อและเข้าใจผิดได้ว่า "กรมสอบสวนคดีพิเศษ คอยให้ความช่วยเหลือ หรือ อำนวยความสะดวกหรือกระทำการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการมิชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์กับ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ผู้ต้องหาในคดีพิเศษ"
โดยการแถลงข้อมูลและใส่ความดังกล่าวไม่มีมูลความจริงและปราศจากพยานหลักฐานอ้างอิง ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายโดยตรงได้รับความเสียหาย อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ การกระทำมิได้ประสงค์จะให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวนด้วยความสุจริต
กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงมอบหมายให้ผู้อำนวยการกองกฎหมายร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับ นายเอกภพ และผู้ที่เกี่ยวข้องในความผิดฐาน หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และมาตรา 328 ต่อไป
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังระบุว่า มีความตระหนักดีว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งสามารถถูกตรวจสอบได้จากภาคประชาชนและองค์กรสาธารณะที่ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นด้วยความสุจริตใจ ติชม ด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนทั่วไป อันมิใช่เป็นการสร้างข้อมูลอันเป็นเท็จ มีเจตนาแฝงซ่อนเร้นด้วยผลประโยชน์อันไม่ชอบด้วยประการอื่น หากกรมสอบสวนคดีพิเศษละเลยไม่ร้องทุกข์ดำเนินคดีย่อมจะกระทบต่อความเชื่อมั่นที่สาธารณชนหรือประชาชนที่สุจริตได้มีการให้ข้อมูล เบาะแส ติชม ตามทำนองคลองธรรมของระเบียบกฎหมายได้