ป้าตาบอดและน้องสาวกอดกันร่ำไห้ พี่ชายฮุบมรดก
ป้าตาบอดและน้องสาวกอดกันร่ำไห้ พี่ชายฮุบมรดกไม่แบ่งให้น้อง 7 คน สุดรันทดฟ้องชนะ แต่พี่ขัดคำสั่งศาลยึดทำกินคนเดียว
20 ม.ค. 2568 นางสัมฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 66 ปี พิการตาบอด และนางทองดี (สงวนนามสกุล) อายุ 59 ปี สองพี่น้องชาว อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ได้หอบเอกสารหลักฐาน และคำพิพากษาศาลที่ชนะคดีแล้วตั้งแต่ปี 2557 กอดกันร้องไห้ ขอความช่วยเหลือกับนายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋นบุรีรัมย์ หลังจากพ่อแม่เสียชีวิตแล้วพี่ชายคนโต จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 8 คน ได้ฮุบที่ดินมรดกเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่เศษ ซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครองทำกินเพียงผู้เดียว
ทั้งที่แม่สั่งเสียไว้ก่อนตาย ให้แบ่งแก่พี่น้องทุกคนเท่ากัน จากนั้นเมื่อปี 2552 น้องชายและน้องสาวจำนวน 5 คน จึงร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พี่ชายคนโต ที่ฮุบเอาที่ดินมรดกคนเดียว ต่อมาปี 2553 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำพิพากษา ให้พี่ชายคนโตซึ่งเป็นจำเลย แบ่งที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าวให้แก่น้องทั้ง 5 คน ที่เป็นโจทย์ยื่นฟ้องคนละ 1 ใน 7 ของจำนวนที่ดินที่พิพาท และให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้ง 5 ด้วย
ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น แต่จำเลยยังได้ยื่นฎีกาอีกเมื่อปี 2557 แต่ศาลไม่รับฎีกาของจำเลย ถือว่าคดีสิ้นสุด แต่แม้น้องทั้ง 5 คนที่เป็นโจทย์ยื่นฟ้องพี่ชายคนโต ที่หวังฮุบที่ดินมรดกคนเดียว จะชนะคดีศาลสั่งให้แบ่งที่ดินพิพาทเนื้อที่ 17 ไร่ ให้แก่น้องทั้ง 5 คนๆละ 1 ใน 7 แล้วก็ตาม แต่พี่ชายกลับไม่ได้สนคำพิพากษาศาล ยังไปล้อมรั้ว สร้างที่อยู่อาศัย ขุดสระครอบครองทำกินแต่เพียงผู้เดียว จนน้องชายทยอยเสียชีวิตไปแล้ว 3 คน ก็ยังไม่เคยได้เข้าไปทำกินในที่ดินมรดกที่ชนะคดีเลย
ปัจจุบันเหลือน้องสาว 2 คน ที่ยังมีชีวิตคนหนึ่งตาบอด อีกคนก็ต้องตระเวนไปรับจ้างหากินไปวันๆ เพราะไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง เพราะแม้ศาลจะตัดสินให้ชนะคดีให้พี่ชายแบ่งที่พิพาทแล้ว แต่ผ่านไปกว่า 10 ปีก็ยังไม่มีใครสามารถเข้าไปทำกินในที่ดินดังกล่าวได้เลย เพราะแค่ไปดูพี่ชายก็ขู่ว่าหากใครเข้าไป จะยิงให้ตาย ทุกคนจึงเกิดความกลัว จากกรณีนี้จึงได้ร้องให้ทนายอั๋น ช่วยเหลือ เพราะเดือดร้อนไม่มีที่ทำกิน
จากนั้นทนายอั๋น และผู้เสียหาย ก็ได้ลงไปดูพื้นที่พิพาทที่ชนะคดี ซึ่งอยู่ติดถนนในหมู่บ้าน ขณะที่กำลังเดินดูพื้นที่ ก็มีลูกชายของจำเลย ออกมาใช้มือถือถ่ายภาพทนายความ ผู้สื่อข่าว และผู้เสียหาย พร้อมกับอ้างว่าที่ดินแปลงนี้ ตนเป็นคนครอบครองทำกินมากว่า 20 ปีแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับพ่อที่มีการต่อสู้คดีก่อนหน้านี้ และไม่รับรู้เกี่ยวกับคำพิพากษาศาล เพราะตนครอบครองเองไม่เกี่ยวกับพ่อ เพราะพ่อไม่ได้อยู่ที่นี้แล้ว คนอื่นไม่มีสิทธิมาอ้างสิทธิใดๆ ก็เกิดการโต้เถียงกันเล็กน้อย ระหว่างลูกชายจำเลย และโจทก์
ด้านทนายอั๋น บอกว่า เท่าที่ลงมาดูคดีนี้ ทางผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องได้ใช้สิทธิ์ทางศาล และศาลก็พิพากษาแล้วว่าให้จำเลยแบ่งที่ดินที่พิพาทคนละ 1 ใน 7 แก่โจทย์ทั้ง 5 คน ซึ่งคดีดังกล่าวสิ้นสุดแล้ว แต่จำเลยที่แพ้คดีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล เพราะจำเลยยังอ้างสิทธิ์การครอบครองทำประโยชน์ผู้เดียว และยังมีการข่มขู่ห้ามใครเข้าไปในที่ดินจะยิงทิ้ง ทำให้โจทก์ที่ชนะคดีก็ยังไม่สามารถเข้าไปทำกิน หรือทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ ก็ได้ยื่นร้องสำนักนายกฯให้ช่วยเหลือ
ทางสำนักนายกฯ ก็พิจารณาส่งเรื่องมายังอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ หาทางช่วยเหลือ ด้วยการนำที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด แต่ก็ไม่มีใครกล้าซื้อเพราะจำเลยยังอ้างสิทธิ์และอยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าว ปัญหาของเรื่องนี้ คือจำเลยไม่ยอมรับและปฏิบัติตามคำพิพากษาศาล และลูกชายของจำเลยยังจะมาอ้างสิทธิขึ้นมาใหม่ว่า ตนเองครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวมากว่า 20 ปี ไม่เกี่ยวกับพ่อ ทำนองจะสู้คดีใหม่เหมือนว่าครอบครองปกปักษ์
ซึ่งความจริงทำไม่ได้ เพราะเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือกรรมสิทธิ์ ส่วนตัวจึงอยากให้มองถึงเรื่องมนุษยธรรม คืออยากให้เห็นความเป็นคนสายเลือดเดียวกัน หากพูดคุยกันได้ก็อยากตกลงคุยกัน แล้วแบ่งกันตามคำสั่งศาล แต่หากไม่แบ่งเป็นที่ดิน ก็อาจจะเยียวยาดูแลน้องๆ ที่เขาชนะคดี แต่ไม่เคยได้ประโยชน์ใดๆ จากที่ดินมรดกดังกล่าวเลย แต่หากยังดื้อทางผู้เสียหาย ก็สามารถยื่นฟ้องขับไล่ตามกระบวนการได้