ข่าว

สรุปปม ทรู ไอดี ฟ้อง "ศ.ดร.พิรงรอง" ออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรก

สรุปปม ทรู ไอดี ฟ้อง "ศ.ดร.พิรงรอง" ออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรก

06 ก.พ. 2568

ไทม์ไลน์ คดี ทรู ไอดี ฟ้อง "ศ.ดร.พิรงรอง" ออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรกบนแพลตฟอร์ม สู่ศาลสั่งจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา สุดท้ายได้ประกันตัว

6 ก.พ. 2568  กรณีศาลตัดสินให้จำคุก 2 ปี  ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หลังบริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ยื่นฟ้องคดีออกหนังสือเตือนในนามคณะกรรมการ กสทช. ตามกฎ Must Carry ที่มีโฆษณาแทรกไม่ได้
 

สรุปปม ทรู ไอดี ฟ้อง \"ศ.ดร.พิรงรอง\" ออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรก

 

ไทม์ไลน์ 
- ต้นปี 2566 กสทช. ได้รับร้องเรียนว่า แอปพลิเคชัน ทรู ไอดี มีโฆษณาแทรกในช่องรายการทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์จาก กสทช.


- คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ของ กสทช. ที่มี ศ.ดร.พิรงรอง เป็นประธาน ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจำนวน 127 ราย ให้ทุกรายตรวจสอบการนำภาพไปเผยแพร่ในแพลตฟอร์มต่างๆ ว่า ได้นำช่องรายการที่ได้รับอนุญาตไปออกอากาศผ่านโครงข่ายใด หรือ นำไปแพร่ภาพในแพลตฟอร์มใด และปฏิบัติตามประกาศ กสทช. ที่เรียกว่า กฎ "มัสต์แครี่" (Must Carry) หรือไม่ ซึ่งต้องไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ ไม่มีโฆษณาคั่นในแพลตฟอร์ม

-บริษัททรูฯ อาจเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย และอาจถูกระงับเนื้อหารายการที่ได้ส่งไปออกอากาศได้ และมองว่าการกระทำของ กรรมการ กสทช. คนดังกล่าว มีพฤติการณ์ที่แสดงถึงความมีอคติและความไม่เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่


-บริษัททรูฯ อ้างว่า การออกหนังสือเตือนทำให้บริษัทเสียหาย เพราะผู้รับใบอนุญาตประเภทช่องรายการโทรทัศน์บางช่อง อาจนำมาเป็นเหตุผลในการขอระงับการเผยแพร่รายการต่าง ๆ ผ่านทรูไอดี


-บริษัททรูฯ อ้างว่า กสทช. ยังไม่มีระเบียบเฉพาะในการกำกับดูแลกิจการ OTT การให้บริการสตรีมเนื้อหาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ทรูไอดีจึงไม่ต้องรับใบอนุญาตจาก กสทช. หรือก็คือ ไม่ต้องปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้


-เดือนเมษายน 2567 บริษัททรูฯ ยื่นฟ้อง ศ.ดร.พิรงรอง มาตรา 157 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พร้อมยื่นคำร้องต่อศาล ให้ ศ.ดร.พิรงรอง ยุติการปฏิบัติหน้าที่ กรรมการ กสทช. และประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้


-เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลยกคำร้องดังกล่าว ให้ ศ.ดร.พิรงรอง ไม่ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. พิจารณาว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุรกิจของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง

 

ล่าสุดวันนี้ 6 ก.พ. 2568 ศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน อ่านคำพิพากษาคดีตัดสินให้จำคุก 2 ปี กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการออกอากาศบนแพลตฟอร์ม ทรู ไอดี เป็นการออกอากาศผ่าน OTT นั้น ยังไม่มีข้อกฎหมายที่จะต้องขออนุญาตจาก กสทช.และการกระทำของจำเลยที่มีการเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่กสทช.ออกหนังสือเป็นการและมีคำพูดในทำนองว่า ตลบหลัง และการล้มยักษ์นั้น ทำให้มีหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การต่อสู้ของจำเลยเป็นการกล่าวอ้างลอยๆไม่มีพยานหลักฐานน้ำหนักให้หักล้างพยานโจทก์ได้

 

ต่อมาศาลพิจารณาเเล้วอนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ ตีราคา 120,000 บาท โดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล 

 

NationPhoto