
นายกวิศวกรรม ย้ำรื้อซากตึกถล่ม-เจาะโพรง มีความเสี่ยงสูง
นายกวิศวกรรม เผยรื้อซากตึกถล่มต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ขณะที่เจาะโพรงวิธีช่วยผู้รอดชีวิตเร็ว แต่เสี่ยงสูง แนะใช้เครื่องจักรเบาจุดพบชีพจร
29 มี.ค. 2568 ที่แคมป์งานก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วศท.) เปิดเผยว่า โครงสร้างของอาคารที่ถล่มลงมา ยังไม่สามารถตรวจสอบหาสาเหตุได้ในขณะนี้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ การรื้อถอนโครงสร้างเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบแรงเคลื่อนตัวของโครงสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่ติดค้างภายใน
ขณะนี้ยังจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรเบาหรือเครื่องจักรขนาดเล็กเข้าไปรื้อย้ายในจุดที่ยังพบสัญญาณชีพ ส่วนเครื่องจักรหนักสามารถรื้อถอนในส่วนที่ไม่มีผลกระทบ และการรื้อโครงสร้างที่ถล่มทั้งหมดจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรขนาดใหญ่ รื้อถอนจากชิ้นส่วนด้านบนลงมา
ในส่วนเจ้าหน้าที่จะทำการเจาะโพรง เพื่อที่จะเข้าไปค้นหาผู้รอดชีวิต มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก แต่เป็นวิธีกู้ภัยที่สามารถเข้าไปช่วยได้รวดเร็วที่สุด จำเป็นต้องประเมินทุกขั้นตอนในการช่วยเหลือ
สำหรับรอยร้าวของอาคารคอนโดมิเนียม จะแบ่งระดับ
- สีเขียว คือ อยู่ในระดับปลอดภัยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย
- สีเหลือง คือ โครงสร้างเริ่มมีการแตกร้าว
- สีแดง คือ เป็นอันตรายไม่สมควรเข้าไปอยู่อาศัย
รอยร้าวที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ รอยร้าวที่เห็น ทะลุอีกฝั่งของผนัง และเห็นโครงเหล็ก ซึ่งรอยร้าวลักษณะนี้ จะเป็นผลมาจากโครงสร้างที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จำเป็นต้องออกจากพื้นที่และให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประเมิน
ส่วนรอยร้าวที่เป็นลักษณะแตก ไม่ว่าจะเป็นแนวนอนหรือแนวตั้ง ถ้าอีกฝั่งนึงไม่ได้เป็นรอยในลักษณะเดียวกัน หรือมองทะลุได้ จะเป็นรอยร้าวที่เกิดจาก อุณหภูมิ หรือ แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากตัวผนังไม่ใช่โครงสร้าง แต่ถ้าเป็นรอยร้าวที่มุมผนังแนวแยกออกจากกัน แสดงว่าโครงสร้างอาคารได้รับผลกระทบ ทั้งนี้หากบ้านได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว และพบว่ามีรอยร้าว จะต้องให้ผู้เชี่ยววชาญเข้ามาตรวจสอบและประเมิน