ข่าว

ผู้ว่าฯชัชชาติ มีหวังผู้รอดชีวิต ทนอดอาหาร-น้ำใต้ซากตึก สตง.

ผู้ว่าฯชัชชาติ มีหวังผู้รอดชีวิต ทนอดอาหาร-น้ำใต้ซากตึก สตง.

11 เม.ย. 2568

ผู้ว่าฯชัชชาติ เผย ยังหวังมีผู้รอดชีวิต แม้ผ่านมา 2 สัปดาห์ เชื่อหลายคนแข็งแรง อดทน พร้อมปรับแผนลุยค้นหาต่อโซน B

หลังจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยพบแสงไฟมือถือและได้ยินเสียงเปิดปิดมือถือ ภายใต้ซากตึก สตง. ถล่ม บริเวณโซน B ลึก 3 เมตร และใช้กล้องเรดาร์สแกนพบผู้ประสบภัย 2 ราย 


11 เม.ย. 2568 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อคืนนี้ (10 เม.ย.) ทีมเจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่องมือหนักในการรื้อซากอาคารตลอดทั้งคืนจนถึงเวลา 06.00 น. ของวันนี้ ซึ่งตนออกจากพื้นที่เมื่อเวลา 07.00 น. ขณะขั้นช่วงเปิดโพรงหรือช่องตามขั้นตอนในการค้นหาผู้สูญหาย โดยให้ทีมกู้ชีพทำการสำรวจจนพบว่า ช่องในโซน B มีแสงไฟส่องขึ้นมาบนเครื่องมือสแกน แต่ยังไม่ชัดเจน นับได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดี ทำให้มีความคาดหวังที่ดี ซึ่งจะต้องทำการค้นหาต่อด้านใน

โดยได้รับรายงานจาก นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยืนยันมีแสงไฟเปิดปิดขึ้นมาจริงๆ แต่ยังไม่ทราบแหล่งที่มา และเป็นเรื่องยากที่จะยืนยันว่าเป็นแสงไฟจากโทรศัพท์หรือไม่ เพราะแบตเตอรีโทรศัพท์มือถือจะอยู่ได้ถึง 14 วัน แต่ก็เป็นความหวัง อยากให้เตรียมไว้ใจทั้ง 2 ด้าน จะทำให้ดีที่สุด ตอนนี้เหลืออีกไม่มาก ขุดลงไปได้แล้ว 2 เมตร จากความลึก 3 เมตร ตอนนี้พยายามเปิดโพรงและใช้กล้องส่องลงไปให้ลึกมากที่สุด 

 

ผู้ว่าฯชัชชาติ มีหวังผู้รอดชีวิต ทนอดอาหาร-น้ำใต้ซากตึก สตง.

 

ส่วนหลังจากนี้จะปรับแผนค้นหาผู้สูญหายและกู้ซากอาคารหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องดูสภาพหน้างานขึ้นกับสถานการณ์แต่ละวันว่า พบผู้มีชีวิตหรือผู้เสียชีวิต เช่นวันนี้เจอสัญญาณที่พบว่า อาจจะมีความหวัง ก็ต้องปรับแผนค้นหาผู้มีชีวิต 

ในส่วนโซนด้านหน้าคือ โซน A D C ยังคงใช้เครื่องมือหนักทำงาน เพราะอยู่ห่างจากจุดที่พบสัญญาณชีพไกลพอสมควร ปลอดภัยกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ส่วนแผนจะพยายามลดความสูงของซากอาคารให้มากที่สุด และทยอยเปิดโซน B และ C ต่อไป

 

“หน้าที่เราคือเอาทุกคนกลับบ้านให้ได้ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร และความหวังยังมีตลอด จนกระทั่งคนสุดท้ายออกจากไซต์ เซ่นวันนี้ก็เป็นความหวังเล็กๆ เชื่อว่าหลายคนมีสุขภาพที่แข็งแรง อดทน และอาจจะทนอดอาหารและน้ำได้ ในต่างประเทศเคยมีคนติดในซากอาคาร 2 สัปดาห์ยังรอดชีวิตก็มี ซึ่งวันนี้ก็ครบ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ที่ผ่านมามีฝนตกลงมาทำให้มีน้ำไหลลงไปด้านล่าง ดังนั้นอย่าไปหมดหวัง เป้าหมายภารกิจคือเอาทุกคนออกมาให้ได้” นายชัชชาติ กล่าว

 

ผู้ว่าฯชัชชาติ มีหวังผู้รอดชีวิต ทนอดอาหาร-น้ำใต้ซากตึก สตง.

 

สำหรับความคืบหน้าสถานการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รับการเปิดเผยจากนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ว่า ยอดผู้ประสบเหตุจากอาคาร สตง. ณ เวลา 16.00 น. มีจำนวน 103 ราย เสียชีวิต 27 ราย บาดเจ็บ 9 ราย อยู่ระหว่างติดตาม 67 ราย

การแจ้งเหตุอาคารมีรอยร้าวจากประชาชนใน Traffy Fondue รวมทั้งสิ้น 19,163 เคส แบ่งเป็น ปลอดภัยต่อการใช้งาน (เขียว) 17,225 เคส เหลือง 387 เคส สีแดง 34 เคส (2 อาคาร) อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 1,517 เคส 

มีหนังสือแจ้งเข้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร ให้ดำเนินการประสานผู้ตรวจสอบอาคารเข้าตรวจสอบ  โดยแจ้งเจ้าของอาคารแล้วกว่า 5,000 โครงการ แจ้งว่าปลอดภัยต่อการใช้งานสะสม 2,938 โครงการ รายงานซ่อมแซมเฉพาะจุด 173 โครงการ และมีหนังสือแจ้งเข้าของอาคาร ผู้รับเหมาให้ระงับการใช้เครน จนกว่าจะมีการตรวจสอบ ซึ่งเครนมีจำนวน  201 โครงการ รายงานว่าปลอดภัยแล้ว 123 โครงการ 

ด้านการดูแลช่วยเหลือประชาชน และการเยียวยา/การช่วยเหลือ สถานะล่าสุด ยอดรวมที่ดำเนินการลงเบียนกับ Airbnb แล้ว จำนวน 613 ครัวเรือน 1. คอนโดไลฟ์ ลาดพร้าว แวลลีย์ เขตจตุจักร - คอนโดสกายไรส์ อเวนิว สุขุมวิท 64 เขตพระโนขง จำนวน 436 ครัวเรือน 2. คอนโด/ที่พักอื่นๆ คัดเลือกจากกลุ่มเปราะบาง และความจำเป็น เช่น ผู้ประสบภัยที่เข้าอาคารไม่ได้ อาศัยอยู่จริงก่อนเกิดเหตุ แผ่นดินไหว คนพิการ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ดูแลบุคคลที่ไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้ขาดความสามารถ ในการหาที่อยู่ โรคประจำตัว รายได้ อาชีพ จำนวนคนในครัวเรือน เป็นต้น จำนวน 177 ครัวเรือน รวมทั้งศูนย์พักพิง โรงเรียนวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร รองรับได้ 150 คน ว่าง 150 ที่ และศูนย์พักคอยญาติ เขตจตุจักร จำนวน 1 แห่ง รองรับได้ 82 คน เข้าพัก 73 คน ว่าง 9 ที่ 

สำหรับการเยียวยาตามระเบียบ กทม. ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2564 ผู้ประสบภัย สามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ทุกแห่ง ภายใน 30 วัน นับแต่วันเกิดเหตุ (ภายในวันที่ 27 เมษายน 2568) โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวก รับแจ้งความที่สำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต ในเวลาราชการ โดยการประเมินเป็นไปตามการประเมินของคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายโดยรายงานไปยังสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่อไป

 

ขอบคุณภาพ : จักรพงศ์ ฟักเย็น ฝ่ายปฏิบัติการพิเศษและกู้ภัยทางน้ำ สปภ.