ข่าว

เปิดคำพิพากษาคดี "บอส" จำคุก "เนตร-ชัยณรงค์" ยกฟ้อง "สมยศ" และพวก

เปิดคำพิพากษาคดี "บอส" จำคุก "เนตร-ชัยณรงค์" ยกฟ้อง "สมยศ" และพวก

22 เม.ย. 2568

เปิดคำพิพากษาแบบละเอียด คดี "บอส อยู่วิทยา" ศาลสั่งจำคุก "เนตร นาคสุข-ชัยณรงค์" 3 ปี ปมความเร็วรถ ยกฟ้อง "สมยศ" และพวก 6 คน

22 เม.ย. 2568 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลอ่านคำคำพิพากษา คดีร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบหมายเลขดำ อท 131/2567 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 1 เป็นโจทก์ ฟ้อง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. ,นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด กับพวกรวม 8 คนเป็นจำเลย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157, 200, 83, 86 พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1  พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172,192

 

 

กรณีที่พวกจำเลยทั้งหมด ร่วมกันกระทำผิดเปลี่ยนแปลงพยานหลักฐานในคดี คำให้การพยาน ความเร็วรถยนต์ฯ เพื่อช่วยเหลือนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ผู้ต้องหา เพื่อให้พ้นผิด หรือ รับโทษน้อยลง ที่นายวรยุทธขับรถสปอร์ตหรูปอร์เช่ เฉี่ยวชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตขณะขี่รถจักรยานยนต์  เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 3 กันยายน 2555 

จำเลยทั้ง 8 คนให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี และได้รับการประกันตัวคนละ 2 แสนบาท ในวันนี้ได้เดินทางมาพร้อมทนายความ  พล.ต.อ.สมยศ สวมชุดสูทสีน้ำเงินเดินทางมาศาลเวลาประมาณ 08.30 น. พร้อมทนายความ ตามมาด้วยนายเนตร ซึ่งไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ

 

ต่อมาศาลออกบังลังก์อ่านคำพิพากษา ศาลพิเคราะห์ในประเด็นที่ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1,2,3,5-7 เป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่  เห็นว่าจากพยานหลักฐานบรรยากาศในห้องประชุมดังกล่าวเป็นแบบผ่อนคลายสบาย ทุกคนต่างเดินไปมามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการพูดคุย เป็นการถกเถียงทั่วไปเกี่ยวกับความเร็วลักษณะคุยปกติ พยานยืนยันว่าไม่มี ผู้ใดพูดจาโน้มน้าวบังคับขู่เข็ญให้คำนวณความเร็วให้ต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงประกอบบริบทข้อความสนทนาของจำเลยที่ 1 มีลักษณะเป็นเชิงวิชาการทั่วไป มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเสนอความเห็นที่แตกต่างเชิงโต้ตอบกันไปมาแม้จำเลยที่1 จะเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่1 ก็ไม่ได้มีอำนาจบังคับบัญชา ส่วนการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมิได้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวพันใดใดกับการบังคับบัญชา การเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯเป็นแต่บุคคลสาระที่รู้จักในสังคมทั่วไป 

ส่วนที่มีพยานพูดว่า "ทางพี่อ๊อดเค้าอยากให้จบในชั้นอัยการ เค้าจะได้จบเลยจะได้ไม่ต้องสืบ" เมื่อพิเคราะห์ถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำกลางๆ หากไม่ตีความหมายไปทางอคติแต่ฝ่ายเดียว หรือตีความถึงการใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ชอบธรรม การที่จะนำถ้อยคำในการสนทนามาพาดพิงในทางที่เป็นผลร้ายเพียงลอยๆมารับฟังให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีพยานหลักฐานสำคัญอื่นเป็นหลักประกอบย่อมเป็นการไม่ชอบ ทางไต่สวนและทาง นำสืบของโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้สั่งการหรือสมคบคิด เมื่อหลักฐานทางไต่สวนและนำสืบไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยที่1 โน้มน้าวกดดันบังคับและใช้อิทธิพลให้ยึดถือวิธีการคิดคำนวณตามที่จำเลยที่7 นำเสนออันเป็นความผิดแต่อย่างใด 

 

ในส่วนจำเลยคนอื่นที่ศาลยกฟ้อง ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า การดำเนินการยื่นคำร้องขอเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการขอให้สอบสวนในประเด็นเกี่ยวกับการคำนวณความเร็วของรถยนต์หรือการคำนวณความเร็วด้วยวิธีอื่นนอกจากวิธีเดิมและการประชุมเพื่อแสดงวิธีการคำนวณความเร็วสามารถกระทำได้โดยชอบ ดังนี้การที่จำเลยที่5 ที่6 ย่อมมีสิทธิ์ติดต่อเข้าพบ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือนั้น เพื่อขออนุญาตเข้าปรึกษาสอบถามความรู้จากจำเลยที่7และขอให้จำเลยที่7ไปช่วยอธิบายความเห็นตามจำเลยที่5 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจมีสิทธิ์ที่จะเข้าประชุมหรือนัดหมายผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในขอบเขตของตนเพื่อประชุมได้ การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการสมรู้ร่วมคิดหรือเพื่อเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถยนต์

 

เมื่อพิเคราะห์ถ้อยคำสนทนาและบริบทของจำเลยที่5 พูดถ้อยคำทั่วไปไม่แสดงความเห็นใดเกี่ยวกับความเร็วไม่ปรากฏว่าได้โน้มน้าวกดดันและใช้อิทธิพลบังคับให้ยึดถือวิธีการคิดคำนวณตามที่จำเลยที่7 นำเสนอส่วนจำเลยที่6 ข้อเท็จจริงและพยานในการไต่สวนเป็นที่ยุติว่าจำเลยที่6 เป็นผู้ติดต่อประสานงานดังกล่าวข้างต้นไม่เคยเข้าร่วมหรืออยู่ร่วมการประชุมในการคำนวณความเร็วในวันที่เกิดเหตุ ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนร่วมสั่งการหรือกระทำการใดๆที่เกี่ยวข้องอันเป็นความผิดและหลักฐานว่าการกระทำของจำเลยที่5-6เป็นความผิดตามฟ้อง

 

เมื่อพิเคราะห์พฤติการเเล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่1-3 จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดฯ ทั้งนี้เมื่อศาลฟังได้ว่าการกระทำของ1-3 ไม่เป็นความผิดตามกฏหมายแล้ว การสนับสนุนการกระทำผิดจะต้องมีผู้อื่นเป็นตัวการ หากกรณีไม่มีตัวการกระทำผิดผู้ช่วยเหลือให้ความสะดวกในความผิดย่อมไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำของจำเลยที่ 1,2,3,5-7 จึงไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดฐานสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว 

 

ในส่วนจำเลยที่ 4 ขณะนั้นดำรงตำแหน่งอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 โดยสำนักงานดังกล่าวนี้ไม่ได้รับผิดชอบคดีที่เกิดพื้นที่สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ อันเป็นสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 4 ไม่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นพนักงานอัยการผู้รับชอบสำนวนคดีนี้ และไม่ได้หน้าที่พิเศษตามที่ทางราชการมอบหมายในคดีนี้แต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นตัวแทนโดยปริยาย ไม่ได้เป็นพยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญ จำเลยที่ 4 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเข้าไปร่วมประชุมเพื่ออธิบายข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้แก่พนักงานสอบสวน พ.ต.อ.ธ หรือบุคคลอื่น แสดงถึงมูลเหตุจูงใจของจำเลยที่ 4 ที่จะเข้าไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด   จำเลยที่ 4 ได้อ้างสถานะว่าตนเป็นอัยการ รู้จักกับบุคคลต่าง ๆ ทั้งฝ่ายตำรวจและพนักงานอัยการชั้นผู้ใหญ่ เพื่อให้ พ.ต.อ.ธ เกิดความน่าเชื่อถือ เพื่อโน้มน้าวให้ พ.ต.อ.ธ คล้อยตามความเห็นของตน แสดงให้เห็นถึงแรงจูงใจพิเศษที่ต้องการที่จะช่วยให้นายวรยุทธไม่ต้องรับโทษ

 

ยิ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงถ้อยคำของจำเลยที่ 4 ที่ว่า "อยากให้ขอให้เป็น 79.22 ตามที่อาจารย์สายประสิทธิคำนวณ" "คือตามกฎหมายห้ามขับเกิน80 อยากจะขอความกรุณาให้มันอยู่ range ตรงนั้น" "อันนี้ขอความกรุณาท่านผู้การ ทางอัยการเขาสั่งมาอย่างนี้ คือเขาก็มองว่าเขาจะช่วยนะ คือก็อยากให้เขาสบายใจนิดนึงใช่ไหมฮะ เวลาเขาจะสั่ง คือเขาสั่งมาเนี่ย เขาตั้งใจจะช่วยเต็มที่ แล้วก็อยากจะขอความกรุณานะฮะ เรียนตรง ๆ เลยฮะ" "ไม่เกิน 80 " แม้ พ.ต.อ. ว ถามจำเลยที่4 ว่า "เอ้อ ท่านอัยการกองคดีอาญา6 ครับ ความเร็วมันกำหนดไว้เท่าไหร่ 80" และจำเลยที่ 4 ตอบว่า "ไม่เกิน 80" จำเลยที่ 3 พูดว่า"ในกรุงเทพ ในเขตเทศบาล ไม่เกิน 80 นอกเขตเทศบาล " เมื่อ พ.ต.อ.ว ทักท้วงว่า "ผมพยายามคิดตัวเลขในใจของผมได้ประมาณ 88 ผมยังไม่ได้คำนวณแต่ใช้ความทรงจำอย่างเดียว ผมได้ประมาณ 88" แต่จำเลยที่ พูดขอร้องโน้มน้าวแสดงความต้องการว่า "เรียนตรง ๆเลยครับ ขอความกรุณานะฮะ" ข้อความทั้งหมดดังกล่าวเป็นบ่งชี้ว่าจำเลยที่ ประสงค์จะให้ความเร็วกำหนดเฉพาะเจาะจงต้องไม่เกิน 80 กม./ชม. เท่านั้น เพื่อจะให้อยู่ในขอบของกฎหมายกำหนด การกระทำของจำเลยที่ 4 มีลักษณะการแทรกแซง โน้มน้าว กดดัน โดยใช้สถานะอิทธิพลของตนให้การคำนวณความเร็วของ พ.ต.อ.ธ ไม่เป็นอิสระ เพื่อให้ พ.ต.อ.ธ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมีเจตนาเพื่อในชั้นต่อไปให้พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีที่จะมีความเห็นหรือสังคดีสำนวนของนายวรยุทธที่ตกเป็นผู้ต้องหา นำผลการคำนวณความเร็วไปใช้ประกอบดุลยพินิจในทางเฉพาะที่เป็นคุณแก่นายวรยุทธเท่านั้น เพื่อประสงค์ต่อผลจะช่วยนายวรยุทธ ผู้ต้องหามิให้ต้องรับโทษหรือให้รับโทษ น้อยลง การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง เมื่อจำเลยที่4 กระทำผิดส่วนตัว ไม่ได้กระทำในอำนาจและหน้าที่ จึงเป็นเพียงฐานผู้สนับสนุนการกระทำผิด แม้การกระทำของจำเลยที่ 4 อันเป็นการช่วยเหลือผู้ที่กระทำผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด และผู้ที่กระทำผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือไม่นั้นก็ตาม


และปัญหาสุดท้ายว่า การที่จำเลยที่ 8 ใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธเป็นไปโดยชอบหรือไม่ เห็นว่า คำสั่งไม่ฟ้อง ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยมุ่งเน้นประเด็นเกี่ยวกับการคำนวณความเร็วของรถยนต์ และใช้ดุลพินิจรับฟัง ข้อเท็จจริงความเร็วของรถยนต์ที่นายวรยุทธขับขี่ที่ยึดความเร็วตาม พยานสองปากที่เพิ่งปรากฏในการร้องขอความเป็นธรรมครั้งที่แปดและครั้งที่เก้าเมื่อวันที่ 7 ต.ค.62 หลังเกิดเหตุเหตุการณ์กว่า7ปี พยานสองปากกับระบุความเร็วของรถยนต์ที่พยานทั้งสองขับและความเร็วของรถยนต์ที่นายวรยุทธขับได้อย่างชัดเจนว่าขับมาด้วยความเร็วประมาณ 50 -60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงผิดวิสัยของบุคคลในเรื่องความทรงจำตามธรรมชาติ มีลักษณะที่จะช่วยเหลือหรือให้การเป็นประโยชน์กับผู้ต้องหาพยานทั้งสองปากไม่น่าเชื่อถือและมีคุณค่าแก่การรับฟังในประเด็นนี้จำเลยที่8 ควรชั่งน้ำหนักพยานเช่นพนักงานอัยการทั่วไป 

 

การที่จำเลยที่ 8 ให้เหตุผลว่าไม่มีข้อพิรุธสงสัยใดๆแม้พยานทั้งสองเคยถูกสอบสวนไปแล้ว โดยอ้างว่าเป็นประเด็นสำคัญแก่คดีและมีน้ำหนักมากให้เป็นข้อสนับสนุนการหยิบยกพยานหลักฐานขึ้นอ้างประกอบการพิจารณาทั้งที่จำเลยที่8 เป็นพนักงานอัยการระดับสูงขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งรองอัยการสูงสุดอาวุโสระดับที่1 ยังต้องมีประสบการณ์สั่งสมในการพิจารณาสั่งสำนวนคดีอาญาที่มีฐานความผิดและพฤติกรรมแห่งคดี ยุ่งยากสลับซับซ้อนไปจำนวนมากย่อมจะต้องมีมาตรฐานในการปฏิบัติงานที่สูงมากกว่าพนักงานอัยการทั่วไปและต้องใช้ความระมัดระวังรอบคอบในการพิจารณาสั่งสำนวนซึ่งปรากฏแพร่หลายในสื่อสาธารณะชนทั่วประเทศและนอกประเทศ ทั้งจำเลยที่8 ย่อมทราบอยู่แล้วว่าองค์ประกอบความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายความเร็วของรถยนต์ขณะที่การเกิดการชนนั้นแม้อัตราจะต่ำมากกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากผู้ขับขี่กระทำไม่ได้ใช้ความระมัดระวังทั้งทั้งที่นายวรยุทธสามารถใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ตามวิสัยและพฤติการณ์ แต่ไม่ได้ใช้ บุคคลนั้นก็มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทได้ 

 

แต่จำเลยที่8 เลือกหยิบยกพยานหลักฐานเฉพาะ เพื่อสนับสนุนการสั่งคดีโดยมุ่งเน้นความเร็วรถยนต์ของนายวรยุทธเป็นหลักให้ความสำคัญส่วนนี้ เพื่อให้เจือสมว่า ความประมาทเกิดขึ้นจากผู้ตายแต่เพียงฝ่ายเดียว เพื่อสนับสนุนความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาและความเชื่อว่า นายวรยุทธไม่ได้กระทำโดยประมาทเป็นการใช้ดุลยพินิจช่างน้ำหนักพยานหลักฐานอยู่บนรากฐานความสมเหตุและผล การที่จำเลยที่8 อ้างว่าการร้องขอความเป็นธรรมก็ต้องพิจารณาใหม่เป็นครั้งๆเพื่อให้ความเป็นธรรมไม่มีผลผูกพันให้จำเลยที่8 จำต้องถือและปฏิบัติความเห็นและโดยเฉพาะดังกล่าวเพราะไม่มีกฎหมายระเบียบกำหนดให้ต้องสืบและปฏิบัติตาม เพื่อให้มีการสั่งสอบสวนเพิ่มเติมใหม่หลายครั้งหลายประเด็นโดยไม่จำเป็น จนหาข้อยุติไม่ได้ ส่งเสริมให้สอบปากคำพยานคนเดินซ้ำแล้วให้การกลับหรือเปลี่ยนแปลงคำให้การใหม่โดยการอ้างข้อมูลใหม่หรือพยานหลักฐานใหม่หรือความทรงจำใหม่ของพยาน

 

โดยพนักงานอัยการก็จะอ้างเหตุผลดังกล่าวนำมาประกอบดุลพินิจ เพื่อมีคำสั่งอย่างใดๆก็ตาม ที่อยากให้เป็นในลักษณะสมคบคิดกันเป็นขั้นตอนกับผู้ที่ไม่สุจริต เพื่อให้เอื้อสมประโยชน์ในทิศทางที่จะสั่งคดีทางใดได้โดยง่าย ส่งผลกระทบกระเทือนต่อกระบวนการยุติธรรมโดยรวม การสั่งคดีของจำเลยที่8 เป็นข้อบ่งชี้ว่าไม่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและหลักฐานที่มีเหตุผลอันสมควร มิได้ใช้เกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดอย่างที่พนักงานอัยการพึงใช้เป็นการวินิจฉัยมูลความผิดโดยใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจและด่วนวินิจฉัยคดีเสียเอง การกระทำของจำเลยที่ 8 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดีพนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา หรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญากระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการไม่ชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งคนใดมิให้ต้องรับโทษหรือให้รับโทษน้อยลง โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวด้วย

 

พิพากษาว่า จำเลยที่4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157และ มาตรา200 วรรคหนึ่ง พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา86 จำเลยที่ 8มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 และมาตรา200 วรรคหนึ่ง พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 การกระทำของจำเลยที่4,8 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ซึ่งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา90 

 

  • จำเลยที่4 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด 
  • จำเลยที่ 8 ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิ ชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด จำคุกจำเลยที่ 4 กำหนด 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 8 กำหนด 3 ปี 

 

ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่1-3,5-7 แต่ให้หมายขังจำเลยที่1-3,5-7 ไว้ระหว่างอุทธรณ์ เว้นแต่จะมีประกัน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

 

ขณะที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้ทำความเห็นเเย้งไว้14 หน้าโดยเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งแปดมีเจตนาช่วยเหลือนายวรยุทธ เพื่อไม่ให้ต้องรับโทษในความผิดในข้อหาดังกล่าว จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวนมีอำนาจหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ส่วนจำเลยที่ 8 เป็น พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยสั่งคดี จำเลยที่ 3และที่ 8ปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพื่อช่วยเหลือนายวรยุทธไม่ให้ต้องได้รับโทษ การกระทำของจำเลยที่ 3เเละ 8 

 

จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามฟ้องโจทก์ จำเลยที่5-6 ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนจำเลยที่ 1,2 เเละที่ 7 ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนและในการวินิจฉัยสั่งคดี ความผิดต่อตำแหน่ง หน้าที่ราชการและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเป็น คุณสมบัติเฉพาะตัวของเจ้าพนักงาน แม้จำเลยที่ 1,2,4-7 จะร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 3 และที่ 8 โดยแบ่งหน้าที่กันทำ ก็ไม่ต้องร่วมรับผิดในฐานะตัวการ เป็นเพียงผู้สนับสนุนในการกระทำ
ความผิดของจำเลยที่ 3เเละ8ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

 

สำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 8 คน ประกอบด้วย 

  1. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. จำเลยที่ 1 
  2. พล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข อดีต ผบก.กองพิสูจน์หลักฐาน จำเลยที่ 2 
  3. พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี อดีตพนักงานสอบสวน (สบ 3) สน.ทองหล่อ จำเลยที่ 3 
  4. นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส จำเลยที่ 4 
  5. นายธนิต บัวเขียว จำเลยที่ 5
  6. นายชูชัย หรือพิชัย เลิศพงศ์อดิศร จำเลยที่ 6
  7. รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม นักฟิสิกส์ อาจารย์ประจำและหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ ม.เทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ จำเลยที่7
  8. นายเนตร นาคสุข อดีตรอง อสส. จำเลยที่ 8


ทั้งนี้ทั้งหมดได้ยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เดิม เฉลี่ยคนละ 2-3 แสนบาท เงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล 

 

โดยสามารถอ่านคำพิพากษาฉบับละเอียดได้ตามลิงก์ 

https://drive.google.com/file/d/15IkkjSKtL4h73QsFiwTxHFihIYVJCSsi/view?usp=sharing