เส้นทาง"ตะกวด"...เมนู"แดนมังกร"
ตะกวด หรือเหี้ย ที่ศุลกากรภาค 4 ยึดได้กว่า 1,000 ตัว ขณะลำเลียงจากภาคใต้ขึ้นมาตามถนนเพชรเกษม และถูกตรวจพบในเขต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง หากว่าการขนส่งสัตว์คุ้มครองประเภทนี้ จะไม่ถูกจับได้เสียก่อน บรรดาเหี้ยเหล่านี้จะต้องเดินทางอีกไกลกว่าจะถึงจีนและเวียดนาม เพื
ก่อนหน้านี้ ตำรวจ สภ.ศรีวิไล จ.หนองคาย ก็เคยตรวจยึดเหี้ยได้กว่า 200 ตัว ขณะรอลำเลียงข้ามโขงอยู่ริมชายแดนไทย-ลาว สาเหตุที่เหี้ยได้รับความนิยมจากนักเปิบพิสดาร ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อว่าเป็นโด๊ปชั้นดี ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศและรักษาโรคผิวหนัง อีกสาเหตุเป็นเพราะพ่อค้าหัวใสนำเนื้อเหี้ยมาหลอกเป็นเนื้อตัวนิ่ม เมนูเพิ่มสมรรถภาพอีกชนิด ที่มีราคาดีกว่าเนื้อเหี้ยเป็นไหนๆ
ด้วยเหตุนี้บรรดาขบวนการเหี้ยจึงลักลอบขนส่งสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้ไปตามออเดอร์ที่ได้รับมากันเป็นว่าเล่น โดยราคาเหี้ยจากต้นทางภาคใต้กิโลกรัมละ 200 บาทเท่านั้น แต่ถ้าข้ามไปถึงประเทศลาวได้ราคาจะสูงขึ้นเป็น 1,000-1,500 บาท แต่ถ้านำไปชำแหละสวมรอยขายเป็น "นิ่มตุ๋นยาจีน" ราคาจะพุ่งสูงขึ้นไปอีกถึงกิโลกรัมละ 4,000-4,500 บาท เนื่องจากปัจจุบันหาตัวนิ่มได้ยากขึ้นทุกที
การเดินทางของเหี้ยจะเริ่มต้นจากชายแดนภาคใต้ ขึ้นมาตามถนนเพชรเกษม มาพักที่ จ.สมุทรสาคร ณ ที่นี่ขบวนการเหี้ยจะให้อาหารและบรรจุใส่ถุงตาข่ายหรือลังปะปนไปกับรถขนผักบ้าง รถขนผลไม้บ้าง หรือแม้แต่รถขนของเก่าเหมือนที่จับกุมได้ครั้งล่าสุดที่พัทลุง มุ่งหน้าสู่ภาคอีสาน เพื่อรอลำเลียงข้ามแม่น้ำโขง
ตลอดแนวชายแดนไทย-ลาว ช่วง จ.หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพ่อค้าสัตว์ป่าหวงห้ามหลายชาติหลายกลุ่ม นายทุนใหญ่เป็นชาวเวียดนามเชื้อสายจีน จะติดต่อส่งออเดอร์ผ่านนายหน้าที่เรียกกันติดปาก "สิงห์สองฝั่ง" ที่มีความสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ทั้งไทยและลาว พวกเขาจะทำหน้าที่เคลียร์เส้นทางการขนส่ง จัดหายานพาหนะให้ตามจุดนัดหมาย โดยคนที่ได้รับการว่าจ้างจะไม่รู้เลยว่า สินค้าที่ส่งมานั้นเป็นของใคร เพื่อตัดตอนขบวนการไม่ให้สาวถึงตัวได้
เมื่อถึงชายแดนไทย-ลาว ขบวนการเหี้ยจะลำเลียงข้ามโขง 2 จุด คือ ที่ ต.โพนแพง ต.บ้านต้อน อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย ไปขึ้นที่บ้านปากทวย เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ ซึ่งเป็นจุดรับซื้อและพักสัตว์ขนาดใหญ่ มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์เมนูเปิบพิสดาร ทั้งลิง ตัวนิ่ม และงู
อีกจุดคือที่ จ.นครพนม จะมีบริษัทนำเข้า-ส่งออกอยู่ห่างจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ไปทางเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร รับดำเนินการส่งเหี้ยหรือสัตว์ป่าไปขอใบอนุญาต แล้วจึงส่งต่อไปที่ด่านนาเพ้า เมืองหลักซาว ประเทศลาว ผ่านด่านกาว-แจวของเวียดนาม
เนื่องจากการค้าสัตว์ป่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเวียดนาม ตลาดค้าสัตว์ป่าจึงก่อตัวขึ้นที่รอยต่อระหว่างด่านทั้งสอง ทั้งการดูสินค้า การจัดเตรียมหีบห่อ ตลอดจนการจัดหาแรงงานนับร้อย เพื่อเป็นกองทัพมดลำเลียงสินค้าไปตามเส้นทางลัดเลาะข้ามเขาไปเวียดนาม โดยกองคาราวานจะมีจุดนัดพบอยู่ริมถนนห่างจากพรมแดนไป 3-4 กิโลเมตร จากนั้นจะมีพ่อค้านำรถบรรทุกมารับสินค้าไป ท่ามกลางกองกำลังติดอาวุธคอยคุ้มกันอย่างแน่นหนา
นั่นคือการเดินทางของเหี้ยจากใต้สุดแดนสยามไปลาว-เวียดนาม-จีน ทว่าหากเป็นตัวนิ่มจะมีขั้นตอนซับซ้อนขึ้นมาอีกนิด ระหว่างพักสินค้าที่ด่านกาว-แจว ตัวนิ่มจะถูกคัดแยกขนาด ตัวไหนเล็กจะมีการเพิ่มน้ำหนักตัว ด้วยการฉีดแป้งข้าวเจ้ากวนสุกเข้าทางปาก ด้วยกระบอกสูบลมยางรถจักรยาน ตัวละ 1-2 ขีด ทำให้ลำตัวและท้องพองโต คำนวณคร่าวๆ หากมีนิ่ม 300 ตัว จะได้น้ำหนักเพิ่ม 50-60 กิโลกรัม ขายกิโลละ 2,500 บาท จะช่วยเพิ่มกำไรได้เป็นแสนบาท
ตลาดนิ่มที่ด่านลาวเปิดทุกวัน แทบจะหาสินค้าให้ไม่ทัน ประกอบกับถูกทางการไทยกวดขันอย่างหนัก ตัวนิ่มเริ่มหายากขึ้นจนถึงขั้นวิกฤติ ตรงกันข้ามกลับมีใบสั่งเข้ามามาก ด้วยเหตุนี้จึงมีการหาสินค้าทดแทนตัวนิ่มขึ้นมา และเนื้อสัตว์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับตัวเนิ่มมากที่สุด คือ เหี้ย นั่นเอง !?!
"เขาจะอ้างว่านิ่มตายระหว่างขนส่ง เมื่อชำแหละตัดหัวและอุ้งตีน ลอกหนังทิ้งไป รูปร่างและเนื้อส่วนที่เหลือจะเหมือนตัวนิ่มมาก ทั้งโคนหางและลำตัว นำไปสับเป็นชิ้นตุ๋นยาจีนก็ตบตาลูกค้าได้ ลงทุนน้อยกำไรงาม สินค้าก็หาง่าย ออเดอร์ตัวเหี้ยจึงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง" หนึ่งในผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการนี้ให้ข้อมูล
ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ หน่วยสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า รสชาติของสัตว์ทั้งสองชนิดจะคล้ายๆ กัน ทั้งนี้ จากรายงานของต่างประเทศพบพยาธิ "angiostrondylus" สกุล cantonesis ในตัวเหี้ย ซึ่งตัวอ่อนของพยาธิมักจะพบอยู่ในกุ้ง หอย ปลา และตัวเหี้ย โดยเป็นตัวอ่อนระยะที่ 3 ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการปวดหัว มีไข้ต่ำ อาเจียน ปวดต้นคอ และพบเม็ดเลือดขาวในน้ำไขสันหลัง อาจจะพบจุดเลือดออกเล็กๆ ทางสมอง ทำให้สมองอักเสบ ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทและอาจจะพบพยาธิในลูกตาได้
ตัวเหี้ยอยู่ในตระกูล Water moniter เป็นสัตว์เลื้อยคลาน ชอบกินซากสัตว์เป็นอาหาร เช่น ซากกุ้ง ปลา ทำให้มีเชื้อพยาธิ คนที่กินเข้าไปจึงมีโอกาสติดเชื้อด้วย
นิธิศักดิ์ เศรษฐแสงศรี/ ทวี อภิสกุลชาติ/ มยุรี อัครบาล