รวมชาติเกาหลี ปลายทางอันไกลโพ้น
รวมชาติเกาหลี ปลายทางอันไกลโพ้น : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์ : โดย...อุไรวรรณ นอร์มา
ขณะที่เกาหลีใต้กำลังสาละวนกับศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในราว 20 วันข้างหน้า ฝ่ายเกาหลีเหนือก็ขยับเตรียมการทดสอบจรวดพิสัยไกล คาดว่าจะมีขึ้นช่วงวันที่ 10-22 ธันวาคม เกาหลีเหนือระบุว่าเป็นการทดสอบสำหรับการส่งดาวเทียมสู่วงโคจร แต่เกาหลีใต้ สหรัฐและญี่ปุ่น ก่นประณามว่าเป็นการทดสอบเทคโนโลยีขีปนาวุธต้องห้ามตามข้อตกลง
ข่าวพาดหัวเรื่องเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธที่ทำให้บรรดาชาติที่เกี่ยวข้องนั่งไม่ติด คนรุ่นใหม่ที่นี่เพียงรับรู้และเฉยๆ เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธ ทดสอบก็ทดสอบไป แต่สำหรับคนรุ่นเก่าที่เคยมีญาติพี่น้องถูกเกาหลีเหนือฆ่าตายสมัยสงคราม ยังคงรู้สึกว่านี่คือภัยคุกคาม นอกจากนี้ นโยบายความมั่นคงและต่างประเทศ ไม่ใช่ประเด็นหลักของการหาเสียง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ไม่ให้ความสำคัญเท่ากับปัญหาเรื่องการสร้างงาน ที่กลายเป็นประเด็นหลักของศึกเลือกตั้งคราวนี้นอกเหนือจากเรื่องสวัสดิการ และเพิ่มความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ
เหตุใด เปียงยางจึงขยับทดสอบจรวดในช่วงฤดูหนาวซึ่งอากาศไม่เป็นใจ ต่างจากอดีตที่การทดสอบมักกระทำในช่วงหน้าร้อนหรือฤดูใบไม้ผลิ ยังเป็นคำถาม บ้างว่าเป็นความพยายามแข่งกับเกาหลีใต้ที่เดิมวางแผนทดสอบปล่อยจรวดเมื่อ 29 พฤศจิกายน แต่เจอโรคเลื่อนอีกครั้ง บ้างว่าเพื่อรำลึกครบรอบหนึ่งปีต่อการจากไปของนายคิม จอง อิล ผู้นำคนก่อนและบิดาของนายคิม จอง อุน ผู้นำคนปัจจุบัน แต่สิ่งหนึ่งสะท้อนว่าเกือบหนึ่งปีภายใต้คิม จอง อุน เกาหลีเหนือยังอยู่ในกรอบเดิม
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบหนึ่งปีก่อน บทความตีพิมพ์ทางการในวันพิธีศพของนายคิม จอง อิล ทางการเปียงยางได้เชิดชูการปฏิวัติสามประการของผู้นำผู้ล่วงลับ ได้แก่ การเปลี่ยนเกาหลีเหนือเป็นรัฐนิวเคลียร์ ผลิตดาวเทียมและเป็นฐานปล่อย การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษใหม่ปูทางสู่การเป็นอำนาจทางเศรษฐกิจ และสร้างความฮึกเหิมในใจประชาชนด้วยการก้าวกระโดดเป็นประเทศรุ่งเรืองและแข็งแกร่ง ศาตราจารย์ยู โฮ โยล ผู้อำนวยการฝ่ายเกาหลีเหนือศึกษา มหาวิทยาลัยเกาหลี กล่าวว่า ทั้งสามประการคือมรดกของพ่อมอบแก่ลูกชาย หากไม่ปฏิบัติตามหรือแก้ไขนโยบายของบิดาหรือของปู่ ย่อมหมายถึงการวิจารณ์ผู้นำรุ่นเก่า
"แม้ชนชั้นนำต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงตามรอยจีนและเวียดนาม แต่ด้วยรูปแบบโครงสร้างผู้นำที่ตั้งอยู่บนตัวบุคคลอย่างแนบแน่น จึงไม่อาจทำได้ การหันเหไปจากนโยบายของผู้นำคนก่อนเพียงน้อยนิด จะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญยิ่ง"
หากวิเคราะห์แบบมองโลกแง่ดีว่านายคิม จอง อุน อยากเปลี่ยนแปลงปฏิรูป นอกเหนือจากการนำภรรยาออกงานมาแนะนำตัวต่อสาธารณชนและสื่อ เพื่อให้ได้การสนับสนุนจากภาคสังคมมากกว่าพึ่งกองทัพอย่างเดียว ผู้นำหนุ่มวัยใกล้ 30 และเหล่าชนชั้นนำหัวก้าวหน้า ก็กำลังเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับมรดกสามประการที่ต้องเดินตาม ขณะเดียวกัน ก็เป็นปัญหาท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่เกาหลีใต้ที่จะเข้าบริหารประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าเช่นกัน
การเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เป็นการแข่งขันสองอุดมการณ์ ระหว่างอนุรักษนิยมกับเสรีนิยม ซึ่งในทางการเมือง อนุรักษ์กับเสรีนิยมของเกาหลีใต้คือ แนวโน้มในการดำเนินนโยบายเกาหลีเหนือ ระหว่างมุ่งสนับสนุนการเกี่ยวพัน กับมุ่งยับยั้งพฤติกรรมไม่พึงปรารถนา จึงทำให้พอจะคาดการณ์ได้ในระดับหนึ่งว่า อนาคตต่อจากนี้อย่างน้อย 5 ปีจะเดินไปในทางใด โดยยังคงเป้าหมายการรวมชาติอย่างสันติท่ามกลางความคาดหวังที่แผ่วลงเรื่อยๆ
ศาสตราจารย์แน ยอง ลี จากสถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยเกาหลี กล่าวว่า เกาหลีใต้ลองมาหลายวิธีการแล้ว ทั้งไม้แข็งไม้อ่อน รวมทั้งนโยบายประวัติศาสตร์ตะวันฉายแสง หรือ Sunshine Policy แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นกลับเป็นการพัฒนาศักยภาพด้านนิวเคลียร์ แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่านโยบายสวยหรูแค่ไหนก็ไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงในเกาหลีเหนือได้ ก้าวต่อไปคือ จะผสมผสานนโยบายอย่างไรให้ลงตัวที่สุด ซึ่งเป็นโจทย์ข้อใหญ่
เกาหลีใต้ ณ วันนี้ เป็นชาติอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองมีเสถียรภาพ ส่งออกวัฒนธรรมทั่วโลก แต่ในทางภูมิศาสตร์การเมือง ดินแดนสงบยามเช้าแห่งนี้ เป็นเพียงประเทศเล็กๆ ท่ามกลางเพื่อนบ้านขนาดเบิ้ม
การรวมประเทศของสองเกาหลี หากไม่ได้รับการสนับสนุนและเห็นพ้องต้องกันจากบรรดาเพื่อนบ้าน ยากจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทิศทางลมจากจีน อาจารย์ยู โฮ ยูล ผู้อำนวยการศูนย์เกาหลีเหนือศึกษา มหาวิทยาลัยเกาหลี กล่าวว่า เกาหลีใต้ศึกษาบทเรียนในอดีต ไม่มีใครคาดว่าจีนจะส่งทหารเข้าแทรกแซงหลังสงครามเกาหลีอุบัติขึ้นหนึ่งปี เพื่อต่อสู้กับทหารอเมริกันที่รุกไล่ทหารเกาหลีเหนือเข้าไปใกล้แม่น้ำยาลู ที่กั้นระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ ซึ่งต่อมาจีนสูญเสียทหารนับล้านคน
ด้านศาสตราจารย์ชิน วา ลี นักวิชาการด้านความมั่นคงจากคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเกาหลี ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่น่าจับตาคือ ความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกา-จีน ในสมัยที่สองของประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐ และในยุคของ สี จิ้น ผิง ว่าที่ผู้นำใหม่ของจีน จะออกมาในรูปแบบใด เนื่องจากมีนัยต่อสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี
คำถามคือ จีนต้องการรักษาผลประโยชน์ทางการเมืองในเกาหลีเหนือ ในสถานะเขตกันชนอิทธิพลสหรัฐที่กำลังหวนคืนภูมิภาคนี้ต่อไปหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าหลังเหตุต้องสงสัยเกาหลีเหนือยิงตอร์ปิโดจมเรือเกาหลีใต้ในปี 2552 และถล่มเกาะยังเพียงในปี 2554 จีนเริ่มคิดว่าเกาหลีเหนืออาจกลายเป็นภาระ มากกว่าเป็นเขตกันชน เชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นความท้าทายสำหรับสี จิ้น ผิง ขณะเดียวกัน รัสเซียที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน จะเข้ามามีบทบาทในประเด็นเกาหลีเหนือหรือไม่อย่างไรหากจีนปรับท่าที
สอดคล้องกับ อาจารย์โย โฮ ยูล ที่กล่าวว่า ในอดีต เมื่อร่วมประชุมกับนักวิชาการจีนในประเด็นเกาหลีเหนือ ฝ่ายจีนมักเน้นเรื่องสังคมและวัฒนธรรม ไม่มีเรื่องนิวเคลียร์ แต่ในระยะหลัง เห็นการเปลี่ยนแปลงในหมู่นักวิชาการจีน ที่เริ่มเอ่ยถึงอนาคตของคาบสมุทรเกาหลีในทางที่ส่อว่า อาจไม่สามารถรักษาเกาหลีเหนือไว้ในสภาพนี้ไว้ได้ต่อไป อาทิ คุยถึงเรื่องการเตรียมความพร้อมรับผู้อพยพลี้ภัยกรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน
นักวิชาการท่านนี้กล่าวว่า จีนอาจต้องการเพื่อนบ้านที่เจริญรุ่งเรืองมากกว่าจะสร้างปัญหาเช่นกัน เกาหลีเหนือที่สงบและรุ่งเรือง อาจสามารถเป็นตลาดส่งออก เป็นแหล่งทรัพยากรของจีนได้
ในความเป็นจริง เกาหลีเหนือยากจะอยู่รอดได้ หากไม่เปิดตลาด ประชาชนไม่มีแรงจูงใจในการทำงานหนัก เพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า มีรายงานว่า นายคิม จอง อิล เคยสารภาพความนัยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีน ถึงสาเหตุที่เกาหลีเหนือไม่อาจยึดจีนเป็นโมเดลได้ ว่า จีนเปิดประเทศพัฒนาท่าเรือชายฝั่งเซี่ยงไฮ้ โดยที่จีนยังควบคุมพื้นที่อื่นๆ ไว้ได้ เนื่องจากจีนเป็นประเทศใหญ่ ขณะที่เกาหลีเหนือเป็นประเทศเล็ก หากเปิดชายแดนเช่นนั้น เกรงว่าจะไม่สามารถสกัดกั้นอิทธิพลจากภายนอกได้
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่องการรวมชาติ ศาสตราจารย์ยู โฮ ยูล กล่าวว่า ในอดีต ผลสำรวจชี้ว่า ชาวเกาหลีใต้ร้อยละ 80 ต้องการรวมประเทศ ไม่ว่าภาระจะหนักหนาอย่างไรก็ตาม แต่ในระยะหลัง ผลสำรวจแสดงถึงช่องว่างระหว่างวัยที่เพิ่มขึ้น กล่าวคือในกลุ่มคนหนุ่มสาว มีผู้สนับสนุนเพียงครึ่ง จึงเป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะต้องโน้มน้าวให้ประชาชนเข้าใจถึงการรวมประเทศ แม้ว่าจะต้องจ่ายมากแค่ไหนก็ตาม
ส่วนฝ่ายเกาหลีเหนือต้องการรวมชาติหรือไม่ ยากจะประเมินได้ กระนั้นเคยมีผลสำรวจชาวเกาหลีเหนือที่ไปเยือนจีนราว 2.6 หมื่นคน พบว่าหากเกาหลีเหนือล่มสลาย อยากรวมกับจีนมากกว่า อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าเป็นผลสำรวจที่มีอคติ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจแต่ก็เป็นผลสำรวจเดียวที่ทำได้
อย่างไรก็ดี การรวมชาติไม่อาจเกิดขึ้นผ่านการเจรจาเท่านั้น และเกาหลีใต้ไม่อาจรอจนระบอบคิม จอง อุน ล่มสลาย โดยไม่เตรียมการ อาจารย์เสนอว่า ระหว่างนี้ เกาหลีใต้ควรเตรียมกรอบกกฎหมายรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยของเกาหลีเหนือ อาทิ กฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อเกาหลีเหนือ ซึ่งอาจกระตุ้นให้กระแสเปลี่ยนแปลงหยั่งรากภายในเกาหลีเหนือได้ ยกระดับภาพลักษณ์เกาหลีใต้ในหมู่ประชาชนและชนชั้นนำเกาหลีเหนือ ซึ่งต้องอาศัยการร่วมมือร่วมใจของชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ 2.3 หมื่นคน ที่เข้าไปตั้งรกรากในประเทศเกาหลีใต้ และอีกหลายหมื่นหรือนับแสนคนที่หลบหนีเข้าไปในจีน ตลอดจนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลโซลพาประชาชนก้าวข้ามความวิตกและความกังวลเกี่ยวกับการรวมชาติ
ด้าน นายฮยอน อิน แท็ก อดีตรัฐมนตรีรวมชาติและที่ปรึกษาด้านนโยบายรวมชาติของประธานาธิบดีลี มยอง บัค กล่าวว่า มีคนถามตนหลายครั้งว่า การรวมชาติจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ คำตอบคือว่า ไม่ทราบ ไม่มีใครคาดการณ์ได้ การรวมชาติอาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันก็เป็นไปได้
ปัญหาที่สองเกาหลีเผชิญทั้งในอดีตและปัจจุบัน ยุ่งยากซับซ้อนกว่ากระบวนการรวมชาติเยอรมนี แตกต่างที่สุดคือ เยอรมนีตะวันออกกับตะวันตกไม่เคยทำสงครามสู้รบกัน ขณะที่สองเกาหลี เคยทำสงครามฆ่าล้าง มีบาดแผลร้าวลึกในใจ การเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ไม่ใช่งานง่ายและต้องใช้เวลา ด้านพลังอำนาจทางเศรษฐกิจของสองเยอรมนีห่างไกลกันก็จริง แต่ไม่ถึงกับสุดกู่ดังสองเกาหลี ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ประเมินค่าใช้จ่ายในการรวมประเทศในขวบปีแรก อย่างน้อย 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ชาวเยอรมันตะวันออกกับตะวันตกยังมีวัฒนธรรมไม่ต่างกันมากนัก ขณะที่สองเกาหลีอาจต้องเริ่มจากการเรียนรู้ปรับภาษากันใหม่ เนื่องจากเกาหลีเหนือภายใต้คิม อิล ซุง ผู้ก่อตั้งประเทศ ใช้นโยบายโดดเดี่ยวตนเอง ไม่ต้องการใช้ภาษาต่างประเทศใดๆ รวมทั้งตัวอักษรจีน ไม่ใช้ศัพท์เฉพาะภาษาอังกฤษ ทำให้ชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่พักใหญ่กว่าจะพูดภาษาที่ใช้ในเกาหลีใต้ได้
อดีตรัฐมนตรีรวมชาติ ยังตำหนิว่า เกาหลีเหนือไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้เกาหลีใต้ให้ความช่วยเหลือเสมอมา ปุ๋ยหลายล้านตันที่ส่งไปให้เกาหลีเหนือเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติอาหารเมื่อหลายปีก่อน มีรายงานว่าเกาหลีเหนือส่งออกปุ๋ยออกนอกไปขาย ทั้งที่ปุ๋ยหนึ่งตัน จะสามารถปลูกข้าวได้ 1-2 ล้านตัน เกาหลีเหนือส่งออกถ่านหินส่วนใหญ่ไปจีน ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง หนำซ้ำยังเดินหน้าโครงการเพิ่มสมรรถนะแร่ยูเรเนียมและพลูโตเนียมต่อไป
พร้อมกันนี้ได้ชี้ถึงการท่องเที่ยวภูเขาคุมกัง หลังเกิดเหตุทหารเกาหลีเหนือยิงนักท่องเที่ยวหญิงเกาหลีใต้เสียชีวิตด้วยความเข้าใจผิด เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 ทำให้เกาหลีใต้ยื่นเงื่อนไขให้อีกฝ่ายขอโทษอย่างเหมาะสม สร้างหลักประกันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก และมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด แต่เกาหลีเหนือกลับเลือกที่จะบอกปัดมาตรการเหล่านี้ ทั้งที่เป็นมาตรการที่สามารถทำได้ และสามารถนำเงินเข้าประเทศได้อย่างมากมาย เมื่อดูจากตัวเลขคนท่องเที่ยวภูเขาคุมกังช่วงปี 2541-2551 รวมเกือบสองล้านคน
เมื่อถามว่าเหตุการณ์ใดหากเกิดขึ้น จะเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงสู่การรวมชาติอย่างชัดเจน ก็คือ สนธิสัญญาสันติภาพ เพราะหมายถึงความมั่นใจ ปราศจากสิ่งนี้แล้ว ไม่อาจเดินหน้าไปขั้นตอนอื่นได้ ซึ่งนั่นก็ต้องรวมถึงเงื่อนไขแรกของการคิดกลับมาเป็นประเทศเดียวกันคือ เกาหลีเหนือต้องยุตินโยบายนิวเคลียร์ ที่เป็นฝันร้ายของเกาหลีใต้ทุกค่ำคืน ดังที่นายโช แท ยอง รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศเกาหลีใต้ เปรียบว่า "คุณจะรู้สึกอย่างไรหากเพื่อนบ้านของคุณลับมีดทุกคืน เพื่อนบ้านคนนั้นมีประวัติฆ่าคนมามากมาย คุณจะนอนหลับได้ไหม"
..................................................
(รวมชาติเกาหลี ปลายทางอันไกลโพ้น : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์ : โดย...อุไรวรรณ นอร์มา )