ฝึกพูดภาษาอังกฤษ กับครู (ฝรั่ง) จิตอาสา
ฝึกพูดภาษาอังกฤษ กับครู (ฝรั่ง) จิตอาสา : คอลัมน์คุยนอกกรอบ
สตีเว่น เอลตัน เคเบิล หรืออาจารย์สตีฟ ประธานคณะกรรมการโรงเรียนสันติสุข ออกตัวว่าเขาไม่เคยคิดจะเป็นครูสอนภาษาอังกฤษเลย
ย้อนหลังไปเมื่อยี่สิบปีก่อน ทุกครั้งที่พบหน้าคนไทย มักถูกถามว่าสอนภาษาอังกฤษไหม หนักๆ เข้า เขาจึงเริ่มสอนภาษาอังกฤษที่บ้าน ให้กับนักศึกษาชมรมภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งรู้จักเป็นการส่วนตัว
ปัจจุบันได้เปิดสอนโรงเรียนภาษาอังกฤษในชื่อ "สันติสุข" โดยมี นพลักษณ์ เคเบิล คู่ชีวิตคนไทย เป็นผู้บริหารโรงเรียน
จุดเด่นของโรงเรียนคือ ครูผู้สอนเกือบทั้งหมดเป็นอาสาสมัครชาวอเมริกัน ที่เกษียณจากงานประจำ บ้างก็ลาพักร้อนมาเป็นคู่ หรือเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ต้องฝึกงาน
ไม่มีใครเป็นครูสอนภาษาอังกฤษโดยอาชีพสักคน !
เด็ดกว่านั้นคือ ทุกคนมาสอนฟรี ไม่มีค่าตัว ตลอดเวลาหนึ่งเดือนที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ทั้งค่าตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ค่าอาหาร เฉลี่ยรายละ 6-7 หมื่นบาท บางรายได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากโบสถ์ในอเมริกา
คอร์สของที่นี่ต้องเรียนทุกวันจันทร์-ศุกร์ หรือจันทร์-เสาร์ วันละ 2 ชั่วโมง เป็นเวลา 30 ชั่วโมง ค่าเรียนคอร์สละ 1,250-1,950 บาท สาเหตุที่ค่าเรียนค่อนข้างถูก เพราะไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้ครู นักเรียน (เท่าที่ผู้เขียนเคยเรียนด้วย) ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน
อย่างที่บอกว่าครูเกือบทั้งหมดเป็นอาสาสมัคร ในบางเดือนที่มีครูอเมริกันน้อยคน อาจต้องเรียนกับครูคนไทยหรือฟิลิปปินส์
สตีฟเล่าถึงที่มาของโรงเรียนแห่งนี้ว่า
"ผมเรียนจบปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์และครู จากมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ผมไม่ชอบสอนภาษาอังกฤษเลย สอนไม่ได้ สิ่งที่ชอบคือเรียนภาษาไทยเป็นภาษาแรกที่พูดได้ ครั้งแรกเรียนภาษาละตินตอนมัธยม แต่ใช้ไม่ได้เลย เรียนเพราะคิดว่าจะเป็นหมอ เขาบอกต้องเรียนภาษาละติน แต่ละตินเป็นภาษาที่ตายแล้ว ไม่ได้ใช้ มาไทยได้ใช้ภาษาไทย เราเริ่มคิดด้วยว่าเคล็ดลับเรียนภาษาไทย ได้ตัวอย่างที่ดี ที่โรงเรียนสอนภาษาไทยจัดเป็นคลาสเล็ก ไม่เกิน 10 คน ทุกคนมีโอกาสพูด เขาบังคับทุกคนต้องพูด ตรงนี้เป็นประโยชน์ คิดว่าถ้าจะสอนอังกฤษใช้ตัวอย่างจากที่นั่น
"จากประสบการณ์ที่อยู่ในไทย รู้สึกว่าคนไทยมีปัญหาการออกเสียง ถ้าเราช่วยให้ออกเสียงถูกต้อง ก็จะทำให้พูดภาษาอังกฤษได้ ภาษาไม่ใช่แค่แต่งประโยคถูกต้อง ต้องออกเสียงชัดด้วย แต่งประโยคผิดก็ไม่ได้ ก่อนมาประเทศไทยหนึ่งปี ผมเรียนคลาสที่อเมริกา 20 ชั่วโมง ซึ่งแนะนำว่าการสอนภาษาอังกฤษแก่คนอพยพมาอเมริกาจะสอนยังไง เขาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกเสียง ผมทดสอบทุกเสียงกับคนไทย ลองดูว่าคนไทยพูดยังไง ถูกหรือผิด ถ้าถูกไม่ต้องสอน หลักสูตรของที่นี่เน้นการออกเสียง"
ใช่ว่าคนไทยจะไม่มีข้อเด่นเอาเสียเลย เขาบอกว่านักเรียนไทยรู้แกรมมาร์ดีมาก ดีกว่าคนอเมริกันเสียอีก
"ตอนแรกมีคนโทรถามว่าสอนแกรมมาร์ไหม เราบอกไม่สอน สอนแต่การพูด ออกเสียง เพราะว่าจุดด้อยของคนไทยคือการออกเสียง และใช้ภาษาอังกฤษ แกรมมาร์ดีอยู่แล้ว เราไม่ต้องสอน แต่เรามีครูไทยสอนแกรมมาร์ให้ คนอเมริกันสอนไม่ได้ (เน้นเสียง) ไม่รู้จัก นอกจากเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่เราสอนด้านการพูดได้เพราะเป็นเรื่องที่เราเก่ง และพอดีเป็นเรื่องที่คนไทยต้องการพัฒนา เราตั้งคลาสเพื่อฝึกให้พูดภาษาอังกฤษ ออกเสียง นั่นเป็นสิ่งที่แก้ไขได้
"ให้คนอเมริกันสอนแกรมมาร์ ตาย เกลียดด้วยไม่ชอบ แต่มาที่นี่ฝึกพูด เหมือนกับตอนเขาเป็นพ่อแม่กับลูก เขาสอนลูกยังไง ในห้องเหมือนเป็นครอบครัว คนมาเรียนก็คล้ายบรรยากาศในครอบครัว เพราะเป็นคลาสเล็กๆ คนสอนก็แฮปปี้ด้วย"
ทุกคนต้องเริ่มต้นจากระดับ 1 หรือก่อนระดับ 1 เพราะในชั้นเรียนระดับ 1 เน้นการฟังและฝึกออกเสียง
เพราะปัญหาของคนไทยคือ ออกเสียงไม่ถูกต้อง
"เน้นระดับ 1 ให้ฝึกออกเสียง เราเลือกมา 13-14 เสียง ก่อนที่จะเริ่มสอนภาษาอังกฤษเป็นจริงเป็นจัง เรารู้จักนักศึกษาชมรมภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงเก็บตัวอย่างจากที่นี่ หลังสอนเสร็จเราให้แนะนำด้วยว่าเป็นไง ในการสอนเราให้แต่งประโยคด้วยทุกวัน ทำได้สิบวันเราบอกว่าไม่ต้องแต่งประโยคแล้ว แต่นักเรียนในคลาสบอกว่า อย่ายกเลิกนะเป็นสิ่งที่เขาชอบมากที่สุด เพราะเป็นอิสระในการแต่งประโยค ทำให้สามารถฝึกสิ่งที่อยากพูด และครูแก้ไข เขาบอกอย่ายกเลิก นี่เป็นสิ่งสำคัญ ผมจึงเปลี่ยนความคิดก็เลยใช้ต่อ"
ด้วยประสบการณ์การสอนกลุ่มแรก เป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งเรียนตั้งแต่ระดับ 1-4 ซึ่งสตีฟบอกว่า เขาสอนจนไม่รู้จะสอนอะไรแล้ว
อย่างไรก็ตาม เรื่องหนึ่งที่ได้จากคนไทยคือ "การท่องจำ" สตีฟบอกว่าแตกต่างจากอเมริกันมาก
นักศึกษาอเมริกันไม่ชอบท่องจำ เกลียดมากๆ แต่สังเกตว่าสังคมไทยจะท่องจำเก่ง
"บางครั้งผมไม่เห็นด้วยที่ท่องจำอย่างเดียว แต่ผมคิดว่าถ้าคนมาเรียนกับเรา จะมีรูปแบบประโยคที่ถูกต้องติดในสมองจากการท่อง เมื่อเอาไปใช้ในสถานการณ์อื่น เปลี่ยนคำหนึ่งหรือสองคำเอาไปใช้ได้ เพราะมีรูปแบบประโยคถูกต้องอยู่แล้วในหัว เราก็โอเค บังคับคนท่องจำบทสนทนาตั้งแต่ระดับ 2 ถึง 4 อันนี้เราเอามาจากสังคมไทยแท้ๆ จะสอนแบบนี้ที่อเมริกาไม่ได้เลย"
ส่วนที่ว่ามีวิธีจำอย่างไร เขาตอบว่า ปัญหาของการเรียนภาษาเหมือนกันทั่วโลก หากไม่ได้ใช้ก็ลืม โรงเรียนหลายแห่งสอนอาทิตย์ละวัน เมื่อมีคนติดต่อมา ถามว่าทำไมที่นี่ไม่สอนวันเสาร์อาทิตย์ หากทำเช่นนั้น แปลว่าเราไม่ได้เรียนระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ แล้วภาษาจะติดหัวเราได้อย่างไร
จริงๆ แล้วสอนทุกวัน วันละสองชั่วโมงก็ยังไม่พอ ดีที่สุดคือต้องไปอยู่ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ
นั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ !
"อันนี้เป็นระบบดีที่สุด คล้ายเอาสังคมตั้งไว้ในประเทศไทยในเวลาสองชั่วโมง ในหนึ่งเดือนจะเห็นว่าตัวเองมีพัฒนาการภาษาอังกฤษ ผมชอบเปรียบเทียบว่าเมื่อเราอยู่กับลูกจะไม่เห็นว่าเขาโตขึ้น แต่คนอื่นมาเห็นจะบอกว่า โอ้โห ลูกโตขึ้นเยอะ ภาษาก็เหมือนกัน เราคิดว่ายังไม่พัฒนา เพราะอยู่กับเขาทุกวัน แต่คนอื่นจะเห็น เราชอบระบบสอนทุกวัน วันละสองชั่วโมง ทำให้คนมาเรียนรู้สึกว่าระบบที่ใช้อยู่เกิดผล ทำได้"
หลักสูตรของที่นี่มีประมาณ 8 หลักสูตร แบ่งตามระดับต่างๆ ซึ่งสตีฟย้ำว่า ออกแบบและดีไซน์เพื่อคนไทยโดยเฉพาะ
"ตำรามีคนเขียน 4-5 คน เรามีที่ปรึกษาในอเมริกา เป็นผู้เชี่ยวชาญการสอนภาษาอังกฤษ ช่วยดูหนังสือทุกเล่ม มันไม่ใช่ตามความคิดเรา ผมจบคณิตศาสตร์และครู เขียนหลักสูตรไม่ได้ แต่จากประสบการณ์สอน คุยกับคนไทย รู้ว่าควรเน้นอะไร แต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ทุกครั้งที่เปิดคอร์สใหม่ ผมจะชอบมาก มันตรงประเด็น เราไม่ได้ใช้หลักสูตรดีๆ ของอเมริกา มันแต่งขึ้นมาเพื่อใครไม่ทราบ แต่หลักสูตรนี้แต่งเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ"
"มีครูมาที่นี่มากกว่า 500 คน นับได้ 750 ครั้ง ในช่วง 20 ปี บางคนมาซ้ำหลายครั้ง อย่างครูสกอตมาสอนเป็นครั้งที่ 10 ครูแจ๊คเป็นอดีตครูสอนภาษาอังกฤษที่อมเริกา จะมาเดือนหน้าเป็นครั้งที่ 12 อีกคนชื่ออลิซจากรัฐแคลิฟอร์เนีย อายุ 73-75 ปี มา 12 ครั้ง มีครูหลายคนมามากกว่าหนึ่งครั้ง และบอกคนอื่นด้วย ตรงนี้เป็นการช่วยหาครูที่จะสอน ไม่ใช่นักศึกษาได้ประโยชน์อย่างเดียว แต่ครูต่างชาติรู้สึกว่าที่นี่มีระบบระเบียบ เขาชอบ เพราะมาแล้วไม่เสียเวลา ไม่มีใครเรียน เขารู้ว่ามาแล้วได้ทำงาน"
อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าครูทั้งหมดเป็นอาสาสมัคร และในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีผู้สอนมากขึ้น เนื่องจากโรงเรียนได้ทำสัญญากับอาจารย์หัวหน้าวิชาในมหาวิทยาลัยสองสามแห่งที่ต้องพานักศึกษามาฝึกงานต่างประเทศ ให้แวะมาสอนภาษาอังกฤษที่กรุงเทพฯ
"เราทำสัญญาตั้งแต่ปี 2008 เว้นไปหนึ่งปี นักศึกษาที่มาเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกงาน จริงๆ เขาไปทั่วโลก เช่น อินเดีย อิสราเอล ฝรั่งเศส แต่นานสุดคืออยู่ในไทย ปีนี้อยู่เดือนพฤศจิกายนทั้งเดือน มี 16 คน จากนอร์ธเวสเทิร์น ยูนิเวอร์ซิตี้ ปีนี้มีมหาวิทยาลัยสามแห่งที่ส่งคนมาช่วยสอน แต่มันอาจเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าอาจารย์ดูแลโปรแกรมเปลี่ยน ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่ตอนนี้ยังดีอยู่ ถ้าเราเพิ่มได้อีกก็ดี"
"ปีที่แล้วติดต่อไปหลายแห่ง ตอนนี้เราจะมีครูตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ปีหน้า จากที่ต่างๆ ในอเมริกา คนที่เคยมาหลายคนจะบอกเพื่อน แต่มีบางช่วงเราไม่รู้ว่าจะมีครูมาสอนหรือเปล่า... ไม่ได้พูดเพราะเป็นคนไทย แต่ครูที่เคยมาจะบอกเพื่อนว่า คนไทยที่มาเรียนเฟรนด์ลี่มากๆ อันนี้เป็นข้อดีคือ คนมาเรียนไม่ได้ถูกบังคับ ทุกคนอยากเรียนอังกฤษจึงเอาใจใส่ค่อนข้างสูง ครูก็ชอบบรรยายกาศอย่างนี้ แม้แต่คนเคยเป็นครูสอนเด็กมัธยมที่อเมริกายังรู้สึกเช่นนั้น ส่วนเด็กมัธยมอาจมาเรียนเพราะผู้ปกครองบังคับ แต่เป็นส่วนน้อย ที่เหลือตื่นเต้น เอาใจใส่กับการเรียน"
"เราเองก็บอกครูว่า ต้องใช้นอกเวลาสอนกับเด็กด้วย เช่น ครูอยากไปเที่ยวแต่พูดอ่านภาษาไทยไม่ได้ ไม่รู้จะเดินทางอย่างไร เราบอกให้ลูกศิษย์พาไป เวลาปฐมนิเทศเราบอกว่า ครูก็อยากเที่ยว เขาไม่เคยมาไทย ให้พาครูไปเที่ยว สำหรับคุณเอง ได้ฝึกภาษาอังกฤษโดยไม่เสียค่าเรียน ได้เรียนภาษาอังกฤษแบบธรรมชาติ ครูก็ได้ไปเที่ยว และคุยกับคนเรียน เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เวลาครูกลับประเทศก็รู้สึกดีมากๆ"
ถามถึงความคาดหวังกับโรงเรียน สตีฟตอบว่าโรงเรียนมีค่านิยม 4 ข้อดังนี้ 1) excellent อยากสอนภาษาอังกฤษที่ยอดเยี่ยม อยากทำทุกอย่างให้ยอดเยี่ยม เช่น สภาพห้องสะอาดดูดี ครูสอนอย่างทุ่มเท เพื่อว่าคนเรียนจะได้ประโยชน์เต็มที่
2) ethical ถ้าเราบอกจะสอนภาษาอังกฤษ ต้องสอนภาษาอังกฤษ บางคนบอกเราสอนเกี่ยวกับศาสนา ไม่ใช่ เราอยากให้คนที่มาได้ประโยชน์เกินกว่าที่เขาคาดหวัง 3) effective หวังให้ลูกศิษย์เก่งขึ้น ไม่ใช่ว่าเราอยากทำธุรกิจ แต่อยากให้คนเรียนได้พัฒนาภาษาอังกฤษ 4) evaluate ทุกห้องต้องประเมินครู เราจะได้ทราบว่าต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร เราชอบฟังคำแนะนำ
อยากฝึกพูดอังกฤษกับฝรั่งตัวเป็นๆ (ซึ่งจะกลายเป็นเพื่อนใหม่ในเวลาต่อมา) สอบถามที่โทร.0 2734 3797 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.suntisuk.org
..............................
(ฝึกพูดภาษาอังกฤษ กับครู (ฝรั่ง) จิตอาสา : คอลัมน์คุยนอกกรอบ)