ไลฟ์สไตล์

รู้ทันมะเร็ง : หอม-กระเทียมต้านมะเร็ง

รู้ทันมะเร็ง : หอม-กระเทียมต้านมะเร็ง

25 ก.ค. 2557

รู้ทันมะเร็ง : หอม-กระเทียม ต้านมะเร็ง : นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

 
                     พืชในกลุ่มเครื่องเทศอันได้แก่ กระเทียม หอมแดง หอมใหญ่ รวมไปถึงผักที่มีกลิ่นฉุน เช่น ต้นกระเทียม ต้นหอม กุ้ยช่าย ดอกหอม ที่หลายคนอาจไม่ชอบกลิ่น จนชอบเขี่ยทิ้งเป็นประจำ แต่พืชผักกลุ่มนี้มีสรรพคุณสำคัญในการช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งที่หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อน โดยเฉพาะอย่าง กระเทียมและหอมแดงพระเอกของเรื่องนี้
 
                     กระเทียมเป็นพืชตระกูลหัวที่มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัวที่ใครๆ ก็รู้จัก กลิ่นฉุนของกระเทียมมีที่มาจากสารประกอบกำมะถันหรือซัลเฟอร์ที่มีชื่อว่า อลิซิน กระเทียมยังมีส่วนประกอบอื่นๆ เช่น กรดอะมิโนอาร์จีนีน ฟลาโวนอยด์ เกอร์ซิทิน และซีลีเนียม นอกจากนั้นยังมีสารไดอาลิลไดซัลไฟด์และสารไดอาลิลไตรซัลไฟด์ สารเอส-อัลลิล ซิสทีอิน บรรดาสารชื่อเรียกยากจำยากเหล่านี้มีคุณสมบัติป้องกันมะเร็งอันได้แก่ ช่วยกระตุ้นเอนไซม์ในการทำลายพิษ ยับยั้งการทำงานของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย
 
                     ข้อมูลจากพฤติกรรมของผู้สูงอายุพบว่า คนสูงอายุที่บริโภคหัวหอมและกระเทียมเป็นประจำมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลายชนิดน้อยกว่าคนที่ไม่ได้รับประทาน ผลการศึกษาจากหลายรายงานพบว่า การบริโภคกระเทียม หัวหอมและต้นกระเทียมเป็นประจำ สามารถลดโอกาสการเกิดมะเร็งหลอดอาหารและมะเร็งกระเพาะอาหารได้ นอกจากนั้น การศึกษาความสัมพันธ์ของปริมาณของการบริโภคหัวหอมและกระเทียมกับโอกาสเกิดมะเร็ง พบว่ากลุ่มที่บริโภคหัวหอมและกระเทียมมากกว่า 10 กรัมต่อวัน มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากต่ำกว่ากลุ่มที่บริโภคในปริมาณที่น้อยกว่า การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่าการบริโภคกระเทียมสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับอ่อนได้ถึง 54 เปอร์เซ็นต์ ผลการศึกษาส่วนใหญ่ได้ข้อสรุปว่าการรับประทานพืชตระกูลกระเทียม หัวหอมเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งหลอดอาหาร ก็แนะนำให้รับประทานกระเทียมที่มีสารอลิซินในปริมาณ 2-5 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเท่ากับกระเทียมอย่างน้อยหนึ่งกลีบต่อวันเพื่อบำรุงสุขภาพ
 
                     ที่สำคัญก่อนนำมาบริโภคต้องระวังราดำที่ชอบขึ้นในหัวกระเทียม หอมแดงที่เก็บไม่ดี มีความชื้น เพราะจะมีสารก่อมะเร็งอะฟลาทอกซินซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งเซลล์ตับ ติดไปด้วยนะครับ...ขอบอก