ข่าว

ท่องเที่ยวยุคดิจิตอล

ท่องเที่ยวยุคดิจิตอล

22 มี.ค. 2559

ขมน้ำตาล หวานบอระเพ็ด : ท่องเที่ยวยุคดิจิตอล : โดย...พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ

 
     ในอดีตเมื่อมีใครสักคนหนึ่งคิดจะเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไปต่างประเทศ ก็จะต้องติดต่อบริษัทผู้ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ให้ซื้อตั๋วเครื่องบินหรือพาหนะเดินทางอื่นให้, ให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการยื่นขอวีซ่าให้, ให้จองสถานที่พักในต่างประเทศให้ ฯลฯ เพราะเป็นเรื่องยุ่งยากในการดำเนินการด้วยตัวเอง ที่ร้ายไปกว่านั้นคือการจองที่พักในต่างประเทศ ยังต้องมีขั้นตอนการวางเงินมัดจำที่สลับซับซ้อน และมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันและกันค่อนข้างลำบาก
 
     แต่เมื่อโลกมาถึงยุคการสื่อสารไร้พรมแดน ทุกประเทศในโลกนี้ต่างมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และเป็นรายได้ที่เมื่อหักต้นทุนแล้วจะเหลือผลกำไรให้แก่ประเทศมากกว่าธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นๆ และยังต่อยอดไปสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจอื่นๆ อีกมากมายด้วย
 
     นักท่องเที่ยวในยุคการสื่อสารไร้พรมแดนหรือในยุคดิจิทัลเช่นทุกวันนี้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่เคยพึ่งพาอาศัยบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หันมาเดินทางและทำธุรกรรมรวมถึงติดต่อเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง ถึงขั้นที่มีการประเมินกันว่าคนที่เดินทางท่องเที่ยวในทุกวันนี้มากกว่าครึ่งหนึ่ง จัดการเรื่องราวทุกขั้นตอนโดยไม่อาศัยบริการจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวเลย เพราะสามารถหาข้อมูลและติดต่อสอบถาม รวมถึงทำการจ่ายเงินจองล่วงหน้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้สะดวกสบายมากขึ้น
 
     เมื่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป หน่วยงานของภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็ต้องปรับรูปแบบการทำงานของตนเองตามไปด้วย มิฉะนั้นหากมีความผิดพลาดใดๆเกิดขึ้น ก็จะส่งผลกระทบมาถึงการท่องเที่ยวของประเทศโดยรวมได้ ดังที่ได้เกิดขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งที่เป็นข่าวปรากฏออกมาและไม่เป็นข่าว
 
     ตัวอย่างเช่นการดูแลและควบคุมเรื่องของสถานที่พักแรม ให้มีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งมีบริการและราคาที่สมเหตุผลกับคุณภาพ, บริการ และ ทำเลที่ตั้ง ด้วยว่าในปัจจุบันนี้ที่พักแรมจำนวนมาก เป็นที่พักแรมซึ่งเกิดขึ้นด้วยวิธีการเลี่ยงกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการโรงแรม
 
     นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยด้วยกันเองและต่างชาติจำนวนมาก เลือกหาที่พักจากข้อมูลที่มีการเผยแพร่กันทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งอาจจะมีการลงข้อมูลและภาพเอาไว้ไม่ตรงกับสถานที่จริง หรืออาจจะมีทำเลที่ตั้งซึ่งมีลักษณะไม่น่าจะปลอดภัยเพียงพอ ทั้งต่อทรัพย์สินและร่างกายของนักท่องเที่ยว ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวในประเทศโดยรวมเกิดความเสียหาย รวมถึงมีการรั่วไหลทางด้านการเก็บภาษีเพื่อนำมาสร้างและบำรุงสาธารณูปโภคโดยรวมด้วย
 
     เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ และเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์อันดีด้านการท่องเที่ยวของประเทศ จึงควรที่จะต้องมีหน่วยงานหลักเข้ามาจัดระเบียบ ทั้งเรื่องที่พัก, สถานบริการ, ร้านค้า ฯลฯ ที่เกี่ยวพันกับการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง เพราะขืนปล่อยให้เป็นการเผชิญชะตากรรมของนักท่องเที่ยวเอง หากมีเรื่องร้ายเกิดขึ้นข่าวก็จะแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ตามประสาโลกยุคดิจิทัลเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้งแล้วนั่นเองครับ