ข่าว

อย.ย้ำครม. เห็นชอบหลักการกฎกระทรวงกัญชง ชูเป็นพืชเศรษฐกิจ

อย.ย้ำครม. เห็นชอบหลักการกฎกระทรวงกัญชง ชูเป็นพืชเศรษฐกิจ

31 ม.ค. 2563

อย.ย้ำครม. เห็นชอบหลักการกฎกระทรวงกัญชง ชูเป็นพืชเศรษฐกิจ อนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง

 

 

            อย.ย้ำคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการขออนุญาต และการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. ... ชูกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ ให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกกัญชง ประชาชน ผู้ประกอบการ สามารถขออนุญาตนำวัตถุดิบกัญชงที่ปลูกได้ไปแปรรูปและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ เช่น ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร หรือเครื่องสำอาง สำหรับใช้ภายในประเทศ และส่งออก เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ

         อ่านข่าว : ครม.ไฟเขียว แก้กฎกระทรวงให้ปลูกกัญชงได้

 

 

 

            เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 เป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงฉบับเดิมที่ตามบทเฉพาะกาลอนุญาตให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐและเน้นเรื่องการใช้ประโยชน์จากเส้นใย

 

         โดยร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยเปิดให้ประชาชนสามารถขออนุญาตและใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของกัญชงนอกเหนือจากเส้นใยเพื่อนำไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ เช่น ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง และปรับลดขั้นตอนการอนุญาตเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

 

       นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยที่ใช้เส้นใยจากกัญชงตามประเพณี วัฒนธรรม ตามวิถีชีวิต เช่น ชาวม้ง สามารถขออนุญาตปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้ ครัวเรือนละไม่เกิน 1 ไร่

 

          ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีบทเฉพาะกาลภายใน 5 ปีแรก ให้สามารถขออนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ เพื่อนำมาปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ภายในประเทศ หรือใช้พันธุ์พื้นเมืองของไทยได้

 

           ส่วนกรณีที่เป็นส่วนอื่นๆ ของกัญชงที่ไม่ใช่เมล็ดพันธุ์ ให้ขออนุญาตนำเข้ามาเพื่อการศึกษาวิจัยได้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม พืชกัญชงยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จึงยังต้องขออนุญาตและมีการควบคุมกำกับดูแลภายใต้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ การดำเนินการออกกฎกระทรวงดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ยังต้องผ่านการพิจารณาตรวจร่างกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตามขั้นตอนต่อไป

 

           ดังนั้น ขณะนี้การดำเนินการเกี่ยวกับกัญชงยังคงเป็นไปตามกฎกระทรวงปัจจุบัน ซึ่งผู้มีสิทธิขออนุญาตยังคงต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ

          รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า กฎกระทรวงฉบับนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

ด้านการสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้ของประชาชน นำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ

---วันที่เผยแพร่ข่าว 31 มกราคม 2563 ข่าวแจก 39 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563---