ข่าว

ถึงเวลาปรับนโยบายภาษียาสูบ

ถึงเวลาปรับนโยบายภาษียาสูบ

07 พ.ย. 2563

เสียงเรียกร้องอย่างหนักและต่อเนื่องจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้ง  ส.ส. - นักวิชาการ – ยสท. – ชาวไร่ยาสูบ และกลุ่มรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ รวมพลประสานเสียงขอก.คลังและกรมสรรพสามิตยกเลิกนโยบายที่จะขึ้นภาษีบุหรี่จาก 20% เป็น 40% ที่มีกำหนดในเดือนตุลาคม 2564 


ภาษีบุหรี่ถือเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่สำคัญในการควบคุมการบริโภคบุหรี่ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผานมา ได้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกกรมยาสูบและชาวไร่ยาสูบแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากการขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ที่สูงมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภคหลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ในปี 2560 จนทำให้ราคาบุหรี่ถูกที่สุดในตลาดไทยแพงขึ้นแบบก้าวกระโดดถึงร้อยละ 50 ในคราวเดียว ในขณะที่กำลังซื้อคนไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน 

 


การขึ้นภาษีในครั้งนั้น ส่งผลให้ยอดขายบุหรี่เสียภาษีถูกกฎหมายลดลง แต่สินค้าทดแทนที่มีราคาถูกกว่าหลายเท่าตัวอย่างยาเส้นกลับได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะยังคงเสียภาษีต่ำมาก และดูเหมือนตลาดมืดของบุหรี่หนีภาษีก็ได้อานิสงส์ไปเต็มๆ จากนโยบายภาษียาสูบก้าวกระโดดครั้งนั้น โดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลรับรู้ถึงผลกระทบจากนโยบายภาษีที่เกิดขึ้น จึงประกาศเลื่อนการใช้อัตราภาษี 40% อัตราเดียวมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2562 และ 2562 ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น แต่ความเดือดร้อนซ้ำซากยังคงเกิดกับกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบทั่วประเทศและอุตสาหกรรมยาสูบมาจนถึงทุกวันนี้

 

ถึงเวลาปรับนโยบายภาษียาสูบ


กลุ่ม ส.ส. จากพื้นที่ยาสูบประสานเสียง ขอรัฐยกเลิกภาษีบุหรี่ 40%
กลุ่ม ส.ส.ในพื้นที่ปลูกยาสูบทั้งภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยเป็นตัวแทนส่งเสียงดังๆ ถึงรัฐบาลไม่ว่าจะเป็น นายจักรัตน์ พั้วช่วย ส.ส.จังหวัดเพชรบูรณ์  ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.จังหวัดสุโขทัย นางสิรินทร รามสูต ส.ส.จังหวัดน่าน น.พ. นิยม วิวรรธนดิฐกุล  ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ อดีต ส.ส. จังหวัดแพร่  นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.จังหวัดแพร่ นายเอกการ เอื้อทรงธรรม ส.ส.จังหวัดแพร่ นายพีรเดช คำสมุทร  ส.ส.จังหวัดเชียงราย เป็นต้น ที่ต่างพูดในทิศทางเดียวกันในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า  ต้องการให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายที่จะขึ้นภาษีบุหรี่จาก 20% เป็น 40% และถ้าหากจะขึ้นภาษีเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ ก็ควรจะเป็นการขึ้นในอัตราแบบขั้นบันได ค่อยๆ ขึ้นไปจะทำให้ทุกฝ่ายได้มีเวลาปรับตัว รวมทั้งให้มีแผนพัฒนาการปลูกพืชทดแทนให้กับชาวไร่ยาสูบด้วย  

 

ถึงเวลาปรับนโยบายภาษียาสูบ

นายจักรัตน์ พั้วช่วย

 


ทั้งนี้ ล่าสุด นายจักรัตน์ พั้วช่วย ยังได้กล่าวในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เล่ย์จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมานี้ว่า ตนจะเดินหน้าคัดค้านการขึ้นภาษีบุหรี่เป็น 40% ต่อไป และย้ำข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนมาใช้วิธีการขึ้นภาษีบุหรี่แบบค่อยๆ ขึ้นเป็นขั้นบันไดในอัตราที่ไม่สูงเกินไป ไม่ใช่ขึ้นแบบก้าวกระโดดเกินสภาพเศรษฐกิจ 


กลุ่มรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่จี้รัฐทบทวนนโยบายภาษีบุหรี่ อย่าปล่อยเกียร์ว่าง
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้ร่อนหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ จี้กระทรวงการคลังให้ปรับโครงสร้างภาษียาสูบ โดยอาจให้ยกเลิกภาษีแบบ 2 ขั้นอัตราในปัจจุบัน แล้วกำหนดภาษีอัตราเดียวขึ้นมาแทน เพราะโครงสร้างปัจจุบันไม่ได้ช่วยให้ภาษีเพิ่มขึ้น และคนสูบก็ไม่ลดลง

 

ถึงเวลาปรับนโยบายภาษียาสูบ

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ

 


ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  เคยระบุว่า  ภาษียาสูบ 2 ระดับ ทำรัฐสูญรายได้มหาศาล โครงสร้างภาษีที่ใช้อยู่ทำให้ ยสท. และชาวไร่ยาสูบเผชิญวิกฤตมา 2 ปีซ้อนแล้ว การเลื่อนการขึ้นภาษีออกไปอีก 1 ปีจะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น  จึงเสนอให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้  1) รัฐบาลยกเลิกแผนขึ้นภาษีเป็น 40% อัตราเดียวในปีหน้า  2) กำหนดโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ทันที และ 3) นำเงินรายได้จากภาษีบางส่วนหนุนชาวไร่ยาสูบเพื่อปลูกพืชทดแทนในอนาคต


กลุ่มนักวิชาการเสนอโมเดลขึ้นภาษียาสูบแบบขั้นบันได
รศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เสนอว่า  ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วเกินไป ทำให้เกิดการคัดค้านการปรับขึ้นอัตราภาษีอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2564 รัฐบาลไม่ควรเอาแต่เลื่อนการขึ้นภาษีไปเรื่อยๆ แต่ควรหาแนวทางที่อยู่ตรงกลาง นั่นคือ การประกาศค่อยๆ ขึ้นภาษี ให้สอดคล้องกับกกำลงซื้อของผู้บริโภค โดยใช้ระยะเวลาเพิ่มขึ้นในการปรับเปลี่ยนไปสู่อัตราภาษีบุหรี่ 40% และมีการกำหนดภาระภาษีที่ไม่สูงถึงร้อยละ 79 ของราคาขายเช่นในปัจจุบัน โดยยกตัวอย่างการขึ้นภาษีบุหรี่ในต่างประเทศที่มีการดำเนินการต่อเนื่องและประกาศล่วงหน้าให้ทุกฝ่ายปรับตัวได้  เช่น ในฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 2556  ประกาศปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ล่วงหน้า 5 ปี จนในที่สุดสามารถยุบรวม 4 ขั้นอัตราภาษี เหลือเพียงอัตราเดียวได้ในปี 2560  และในอังกฤษที่มีนโยบายขึ้นภาษีบุหรี่โดยอ้างอิงดัชนีราคาขายปลีก (Retail Price Index) 

 

ถึงเวลาปรับนโยบายภาษียาสูบ

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช

 


รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์  อดีตหัวหน้ากลุ่มวิจัยสาขาการเงินและการบัญชี มหาวิทยาลัย Nottingham Trent  สหราชอาณาจักร  เสนอแนะต่อรัฐบาลว่า 1) ก่อนจะเปลี่ยนไปสู่ระบบภาษีอัตราเดียวในระยะยาว รัฐบาลต้องมี  Transition period และแผนการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ระยะยาวอย่างชัดเจนเพื่อให้อุตสาหกรรมยาสูบปรับตัวได้  2) ค่อย ๆ ลดอัตราภาษีตามมูลค่าลงและเพิ่มอัตราภาษีตามปริมาณขึ้น โดยค่อย ๆ เพิ่มภาระภาษีบุหรี่ราคาถูกโดยรวมขึ้นให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศไทย และเพิ่มสัดส่วนการจัดเก็บภาษีปริมาณมากขึ้นตามหลักสากลและสอดคล้องกับประเทศที่พัฒนาแล้วในทวีปยุโรป เช่น เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร  และสวีเดน  เป็นต้น และ 3) ทยอยขึ้นภาษีสินค้าทดแทน ได้แก่ ยาเส้น  ควบคู่กันไปกับการขึ้นภาษีบุหรี่ แต่ปรับขึ้นในปริมาณมากกว่า เพื่อให้อัตราภาษียาเส้นจะอยู่ในระดับที่เท่ากับบุหรี่ 

 


ยสท. เสนอปรับปรุงภาษีให้เหมาะสมเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
ผู้ว่าการ ยสท. เห็นว่า สิ่งที่ ยสท. ควรให้ความสำคัญที่สุด คือ ต้องตระหนักว่าธุรกิจยาสูบไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่มีรายได้มากมายมหาศาลเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา ยสท.จึงต้องหารายได้จากทุกช่องทาง รวมถึงการปราบปรามบุหรี่เถื่อนบุหรี่ผิดกฎหมาย เพื่อไม่ให้บุหรี่ผิดกฎหมายมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของบุหรี่ ยสท. ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 60% ของตลาด โดยภารกิจเร่งด่วน คือ การเสนอปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างภาษีให้เหมาะสม เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ เกษตรกร และทุกฝ่าย และเดินหน้าส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อทดแทนยาสูบ เช่น กัญชา-กัญชง 

 

ถึงเวลาปรับนโยบายภาษียาสูบ

รศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์

 


นอกจากนี้ ในรายงานประจำปี 2562 ของ ยสท. ได้ระบุว่า ปัญหาของนโยบายภาษียาสูบในช่วงที่ผ่านมาคือ การขึ้นภาษีแบบก้าวกระโดดจนเกิดความปั่นป่วนในทุกภาคส่วน และแนะนำให้รัฐบาลเปลี่ยนแนวทางหันมาวางแผนการขึ้นภาษียาสูบแบบขั้นบันไดแทน โดยปรับอัตราภาษีตามมูลค่าจากร้อยละ 20 ค่อยๆ ขึ้นไปร้อยละ 5 ทุก 2 ปี ซึ่งจะทำให้ภาระภาษีบุหรี่ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 6-7 ต่อปี ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของไทยและจะช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีเวลาปรับตัวมากขึ้น
ชาวไร่ยาสูบ 


ชาวไร่ยาสูบที่ขายใบยาให้ ยสท. ต่างมีรายได้หายไปครึ่งหนึ่งจากที่เคยได้ก่อนปี 2560 เป็นแบบนี้มา 2-3 ปีต่อเนื่อง เงินชดเชยโควตาที่ถูก ยสท. ตัดไปกว่าจะได้มาก็ต้องเรียกร้องกันเลือดตาแทบกระเด็น แม้ตอนนี้ ยสท. และรัฐบาลจะพยายามผลักดันหาทางให้ชาวไร่ยาสูบเปลี่ยนอาชีพไปเพาะปลูกพืชทดแทนอื่นๆ แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แวว ส่วนความพยายามจะให้ชาวไร่ยาสูบหันมาปลูกกัญชงหรือกัญชานั้นก็ยังอยู่ในระหว่างศึกษากันอยู่ และไม่ใช่ทุกพื้นทีที่ปลูกยาสูบจะสามารถปลูกกัญชงหรือกัญชาได้ผลดี เมื่อสอบถามชาวไร่ยาสูบ ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ามันต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าพวกเขาจะมีความรู้ว่าพืชทดแทนยาสูบจะปลูกอย่างไรให้ได้ผลดี แล้วถ้าระหว่างนี้รัฐบาลมาขึ้นภาษีแบบบ้าเลือดอีก พวกเขาจะหากินกันอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจขาลงหลังโควิด-19 ดังนั้น จึงมีการเรียกร้องจากชาวไร่ยาสูบมาหลายครั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาว่าให้รัฐบาลค่อยๆ ขึ้นภาษียาสูบจะได้หรือไม่ พวกเขาจะได้มีเวลาค่อยๆ ปรับตัว หาทางหนีทีไล่ 

 

ถึงเวลาปรับนโยบายภาษียาสูบ

 

 

สรุปสถานการณ์อุตสาหกรรมยาสูบ 
เมื่อสถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้แล้ว  คงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล โดยกรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลังจะปรับนโยบายภาษียาสูบให้มีความสมดุลมากขึ้นในทุกๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการลดผลกระทบต่ออุตสาหกกรมยาสูบถูกกฎหมาย การสร้างรายได้รัฐ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการลดคนสูบทั้งบุหรี่และยาเส้น โดยไม่ว่าจะปรับในรูปแบบไหนหรือจะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ขั้นล่างที่ร้อยละ 20 ไปทีละนิดจนเท่ากับอัตราภาษีร้อยละ 40 ในที่สุด หรือไม่นั้น ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบันที่รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจยังเห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวไม่น้อยกว่า 2 ปี กว่าจะสามารถกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดได้ หัวใจสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่าอัตราภาษีนั้นมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อ หากยังคงนโยบายที่จ้องแต่จะขึ้นภาษีแบบก้าวกระโดดเหมือนเดิม ความหายนะแบบเดิมก็จะเกิดขึ้นไม่ต่างจากเมื่อปี 2560 แต่หากไม่ต้องการให้เกิดความหายนะเช่นเดิมที่อาจกระทบต่อชาวไร่ยาสูบและอุตสาหกกรมยาสูบถูกกฎหมาย ก็อาจต้องทบทวนนโยบายเสียใหม่ให้เกิดอัตราภาษีที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจมากกว่าเดิม