ข่าว

นักวิชาการหนุนคลัง ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ 2564 ย้ำทุกฝ่ายต้องได้ประโยชน์

นักวิชาการหนุนคลัง ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ 2564 ย้ำทุกฝ่ายต้องได้ประโยชน์

13 ม.ค. 2564

นักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หนุนก.คลัง-กรมสรรพสามิตเร่งศึกษานโยบายภาษีสรรพสามิตบุหรี่ที่เหมาะสมหลังเห็นปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอด3ปีที่ผ่านมาชี้โครงสร้างภาษีใหม่ควรตอบโจทย์ทั้งเรื่องรายได้รัฐชาวไร่ยาสูบสาธารณสุขและการแข่งขันในตลาด


จากกรณีตัวแทนภาคียาสูบแห่งประเทศไทยเข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อติดตามทวงถามเรื่องเงินชดเชยและความคืบหน้าการแก้ปัญหาชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีบุหรี่ เมื่อเดือนกันยายน 2560 และได้เปิดเผยว่ากรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลังกำลังเร่งปรับโครงสร้างภาษียาสูบ โดยจะมีความชัดเจนภายในมีนาคม 2564 นั้น

 


ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความคิดเห็นในประเด็นนี้จากนักวิชาการที่เคยร่วมเสวนาในงานสัมมนาหัวข้อ “มาตรการภาษียาเส้นเพื่อลดการบริโภคยาสูบให้ได้ตามเป้าหมาย” รองศาสตราจารย์ ดร. นงนุช ตันติสันติวงศ์ อดีตหัวหน้ากลุ่มวิจัยสาขาการเงินและการบัญชี มหาวิทยาลัย Nottingham Trent สหราชอาณาจักร ให้ความเห็นว่า “การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสำหรับบุหรี่ต้องให้บรรลุเป้าหมายในการลดจำนวนนักสูบ โดยขจัดโอกาสที่นักสูบจะเปลี่ยนจากบุหรี่ราคาแพงไปสินค้าทดแทนราคาถูก เช่น ยาเส้น เพราะไม่เช่นนั้นแม้รัฐจะเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นก็อาจทำให้จำนวนนักสูบลดลงไม่มากเท่าที่ควร และรายได้ภาษีของรัฐบาลก็ไม่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การใช้ภาษี 2 อัตรานั้นเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันลดราคาเพื่อเสียภาษีในอัตราที่ถูกกว่า ดังนั้น โครงสร้างภาษีบุหรี่สุดท้ายยังไงก็ต้องปรับเป็นอัตราเดียว ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลที่แนะนำโดยองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เช่น ธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลก เป็นต้น แต่จะไปสู่อัตราเดียวยังไง เมื่อไหร่ กระทรวงการคลังคงต้องพิจารณาหาจุดสมดุลระหว่างกำลังซื้อของผู้บริโภค ราคาของบุหรี่ และราคาสินค้าทดแทนที่มีอันตรายเท่ากันกับบุหรี่”


“การขึ้นภาษีบุหรี่เป็นเรื่องที่ควรทำเมื่อมองในมุมด้านสุขภาพ แต่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 การปรับเปลี่ยนอัตราภาษีต้องคำนึงถึงรายได้ของเกษตรกรยาสูบด้วย รวมทั้งพิจารณาใช้ตัวเลขทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อ เป็นตัวกำหนด อย่างที่เป็นหลักปฏิบัติในสหราชอาณาจักรและประเทศนิวซีแลนด์”
    

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. ภัทรกิตติ์ เนตินิยม หัวหน้าภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า “กรอบในการแก้ไขปัญหาของกรมสรรพสามิตนั้นมาถูกทางแล้ว ทุกปัจจัยมีความเชื่อมโยงกันหมด แต่หากมองจากมุมความยุติธรรมของผู้ประกอบการแล้ว กระทรวงการคลังควรพิจารณาการวางแผนระดับภาระภาษี (Tax Incidence) ที่มีความเหมาะสมกับต้นทุนของผู้ประกอบการบุหรี่ถูกกฎหมายในภาวะที่การเติบโตของยอดขายติดลบ แม้แต่การยาสูบแห่งประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับยอดขายที่ลดลงประมาณร้อยละ 30 ขณะที่กำไรลดลงประมาณร้อยละ 95 เพราะระดับภาระภาษีที่สูงจนเกินไป” 

“ที่ผ่านมารัฐได้ประโยชน์จากภาษียาสูบในฐานะแหล่งรายได้ แต่ด้วยโครงสร้างภาษีบุหรี่ปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการมีรายรับสุทธิต่อซองประมาณ 1 บาท จากเดิมเกือบ 7 บาท ซึ่งในระยะปานกลางกำไรระดับนี้การยาสูบฯ น่าจะประสบปัญหาฐานะการเงินในอีกไม่นานนัก และในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ภาระภาษีที่สูงก็ไม่ได้นำมาซึ่งรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้น หรือช่วยให้คนสูบลดลง แต่กลับเป็นการสร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรมยาสูบ ดังนั้น หลักในการพิจารณาโครงสร้างภาษีบุหรี่ง่าย ๆ อีกข้อระดับภาระภาษีต้องไม่สูงเกินไป ซึ่งค่าเฉลี่ยภาระภาษีของประเทศอื่นๆ ที่มีลักษณะทางสังคมและโครงสร้างเศรษฐกิจคล้าย ๆ กัน อยู่ที่ร้อยละ 54 แต่ปัจจุบันระดับภาระภาษีบุหรี่ในประเทศไทยสูงที่สุดในแถบเอเชีย คือร้อยละ 78.6”


ด้าน รศ. ดร. อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า “มีความจำเป็นต้องขึ้นภาษียาสูบ และย้ำเสมอว่าการขึ้นภาษีควรกระทำโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้น ผมจึงเสนอแนะให้มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1) การขึ้นภาษีควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภค 2) การขึ้นภาษีไม่ควรสร้างภาระภาษีที่สูงจนเกินไป เพราะจะกระทบต่อความยั่งยืนด้านรายได้รัฐและต่ออุตสาหกรรมยาสูบ และ 3) การขึ้นภาษีควรกำหนดเป็นแผนและระยะเวลาที่ชัดเจนในการปิดหรือลดช่องว่างภาษีสำหรับยาสูบประเภทต่างๆ โดยบุหรี่จำเป็นต้องค่อย ๆ ยุบอัตราภาษีมูลค่าให้เหลืออัตราเดียวในที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และยาเส้นก็ต้องขึ้นภาษีอย่างต่อเนื่องเพื่อลดช่องว่างภาษีให้ได้ในที่สุด”