ข่าว

ธ.ก.ส.ยึด"เอดีบีแอล"ต้นแบบธนาคารชุมชน

ธ.ก.ส.ยึด"เอดีบีแอล"ต้นแบบธนาคารชุมชน

06 ก.พ. 2553

ปัจจุบันยังมีประชาชนผู้มีรายได้น้อยในสังคมจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน เนื่องจากไม่มีหลักประกันเงินกู้ ทำให้ต้องหันไปพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงและเงื่อนไขการกู้เงินที่ไม่เป็นธรรม

  ซึ่งรัฐบาลได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวและลงมือแก้ปัญหาด้วยการดึงลูกหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบ และเปิดให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 ที่จะใช้ในปี พ.ศ.2553-2557 มีเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งคือ การส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้าถึงบริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการและมีต้นทุนเหมาะสมมากขึ้น

 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งมีภารกิจในการดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว จึงถือโอกาสนี้ขยายกลุ่มประชาชนที่ต้องการบริการทางการเงินเพิ่มเติม ด้วยการจัดทำโครงการ "ธนาคารชุมชน" คาดว่าจะเปิดดำเนินการภายในเดือนเมษายนปีนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสให้กลุ่มประชาชนที่ยังขาดโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินฐานราก (ไมโครไฟแนนซ์) ได้อย่างทั่วถึงและตรงกับความต้องการ เพื่อลดภาระการกู้ยืมเงินนอกระบบ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน รวมทั้งเสริมบทบาทของ ธ.ก.ส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในการปิดช่องว่างของการให้บริการทางการเงินเชิงพาณิชย์

 "ภารกิจของ ธ.ก.ส. คือช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งทุน สนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็ง คล้ายคลึงกับภารกิจของธนาคารเพื่อการพัฒนาการเกษตร จำกัด หรือ เอดีบีแอล ของเนปาล ซึ่งประสบความสำเร็จในการดำเนินงานอย่างมาก ทั้งในแง่ของการปล่อยสินเชื่อ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน รวมทั้งการระดมทุน เราจึงเลือกมาศึกษางานกับเอดีบีแอล เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับโครงการธนาคารชุมชนของ ธ.ก.ส." นายลักษณ์ วจนานวัช กรรมการผู้จัดการ ธ.ก.ส.ระบุ

 ทั้งนี้ เอดีบีแอล เป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการทางการเงินแก่ชาวชนบทเพื่อสร้างรายได้และสร้างงานในท้องที่ห่างไกล เนื่องจากเนปาลมีพื้นที่ส่วนมากเป็นภูเขา แต่ด้วยความสามารถในการให้บริการแก่ลูกค้า ทำให้มีการปฏิรูปองค์กรจากธนาคารที่รัฐถือหุ้นกลายเป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการทางการเงินในชนบทที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังเป็นผู้สนับสนุนระบบสหกรณ์เกษตรรายเล็กในการเข้าถึงคนยากจน ในขณะเดียวกันก็ทำให้ตัวองค์กรมีความยั่งยืนทางการเงินควบคู่กันไปด้วย

 สำหรับการดำเนินงานธนาคารชุมชนของ ธ.ก.ส.นั้น เริ่มแรกจะจัดสรรงบประมาณจำนวน 6,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินโครงการ ซึ่งในช่วงของการเริ่มต้น จะเน้นให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายคน ซึ่งผู้ขอกู้จะต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยและนำเงินไปใช้ในการลงทุน หรือเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว จากนั้นจะขับเคลื่อนไปสู่ชุมชน หรือรายกลุ่ม เช่น กลุ่มการเงิน กองทุนหมู่บ้านและสัจจะออมทรัพย์ โดยการกู้เงินต้องเป็นกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสร้างอาชีพให้แก่สมาชิก เป็นการนำเงินกู้ไปเป็นทุนให้กู้แก่สมาชิกผู้มีรายได้น้อย แต่ประสงค์และตั้งใจเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว

 ส่วนวงเงินกู้ที่ธนาคารชุมชนจะให้แก่ผู้กู้นั้น กรณีผู้กู้รายคนจะให้วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท หรือเฉลี่ยรายละ 20,000 บาท ส่วนกรณีการกู้เป็นรายกลุ่ม แต่ละกลุ่มต้องมีสมาชิกเฉลี่ย 100 ราย วงเงินกู้สูงสุดของสมาชิกรายละไม่เกิน 50,000 บาท เฉลี่ยรายละ 20,000 บาท โดยทั้ง 2 กลุ่มจะต้องมีหลักประกันตามเกณฑ์ที่กำหนด คิดอัตราดอกเบี้ยกรณีรายคน 1% ต่อเดือน ขณะที่รายกลุ่มคิดอัตราดอกเบี้ย 0.75% ต่อเดือน เป็นการคิดแบบลดต้นลดดอก