ผู้เลี้ยง สุกร ส่งสัญญาณ "ราคาหมู" จีนพุ่งสูง หวั่นเกิด โรคระบาด
ผู้เลี้ยง สุกร ส่งสัญญาณ "ราคาหมู" จีน พุ่งสูง หวั่นเกิด โรคระบาด ซ้ำสอง เตือนไทยป้องกันเข้มงวด "ราคาหมู" ไทยยืนแข็งถึงปี 2566
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งสัญญาณเตือนภาครัฐและเกษตรกรป้องกันโรค ASF เข้มแข็ง หลังจีนผลผลิตขาดแคลนหนักหวั่นเกิดโรคระบาดซ้ำ ทำ "ราคาหมู" จีน พุ่งสูง ขณะที่ "ราคาหมู" ไทยตามกระแสยืนแข็งทั้งปีนี้ ตามสถานการณ์ในภูมิภาคผลผลิตน้อยไม่เพียงพอต่อการบริโภค ดันราคาสูงขึ้นตามกลไกตลาดต่อเนื่องในปี 2566 นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า สถานการณ์ "ราคาหมู" ในประเทศปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมทั้งผู้เลี้ยงและผู้บริโภครับได้ โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศ "ราคาหมู" มีชีวิตหน้าฟาร์มยืนราคา 100 บาท/กิโลกรัม มามากกว่าครึ่งปี ขณะที่ราคาขายปลีกเนื้อแดงเฉลี่ยอยู่ที่ 200 บาท/กิโลกรัม ซึ่งคาดว่าราคาจากนี้ไปจะยังทรงตัวสูง เนื่องจากผลผลิตยังออกสู่ตลาดน้อย นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้น ก่อนเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองปลายปี ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารสูง ราคาจึงปรับขึ้นตามกลไกตลาด
นอกจากนี้ เกษตรกรยังต้องแบกภาระต้นทุนและปัจจัยการผลิตสูงขึ้นทั้งจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ พลังงาน ยารักษาโรคและปุ๋ย และการปรับปรุงฟาร์มให้ได้มาตรฐานเพื่อป้องกันโรค อาจทำให้เกษตรกรไม่กล้าเสี่ยงนำหมูเข้าเลี้ยงใหม่ ทำให้ผลผลิตในประเทศไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้ราคาหน้าฟาร์มปรับขึ้นบ้างช่วงตามอุปสงค์-อุปทาน
ทั้งนี้ สำนักข่าว นิกเคอิ ของญี่ปุ่น รายงานสถานการณ์ "ราคาหมู" ในประเทศจีน ว่า จากสารพัดปัจจัยทั้งโรคระบาดในคน โรคระบาดในหมู และต้นทุนอาหารสัตว์ที่ดีดตัวอย่างแรง ส่งผลให้ราคาหมูสดของจีนพุ่งสูงขึ้นถึง 94.7% เทียบกันปีต่อปี "ราคาหมู" มีชีวิตท้องถิ่นอยู่ที่ 23.15 หยวน ต่อกิโลกรัม หรือ 122 บาทต่อกิโลกรัม และเป็นราคาที่ไม่มีเสถียรภาพ ขณะที่ต้นทุนการผลิตในเดือนสิงหาคมปีนี้ เพิ่มขึ้น 22.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2564 ซึ่งรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เกิดผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค จนรัฐบาลต้องระบายสต๊อกหมูแช่แข็งสำรองในคลังห้องเย็นของรัฐบาลออกมาเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของชาวจีน
ราคาเนื้อสุกรของไทยขณะนี้ ไม่ถือว่าแพง เป็นราคาที่ปรับขึ้นสอดคล้องกับราคาในประเทศจีนที่ "ราคาหมู" เป็นหน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 122 บาทต่อกิโลกรัม หลังผลผลิตในประเทศขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่เวียดนามอยู่ที่มากกว่า 90 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาทรงตัวใกล้เคียงกับไทย และมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง” นายสิทธิพันธ์ กล่าว
นายสิทธิพันธ์ กล่าวต่อว่า อาจประเมินได้ว่าตอนนี้หมูทั่วโลกขาดแคลน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาราคาสุกรอ่อนลงเล็กน้อย เนื่องจากฝนตกชุกเกษตรกรเร่งจับหมูหนีน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่เป็นช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ ความต้องการบริโภคลดลง ราคาจึงปรับลงตามกลไกตลาด แต่หลังจากนี้ ราคาจะปรับสูงขึ้นซึ่งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศยังคงให้ความร่วมมือภาครัฐมาโดยตลอดในการตรึงราคาสุกรหน้าฟาร์มที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม
สำหรับ "ราคาหมู" ในปี 2566 ต้องติดตามสถานการณ์ดูปริมาณผลผลิตหมูในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าด้วย จะสามารถผลิตได้ตามเป้าหมายและสามารถขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแปรรูปไปจีนหรือเวียดนามได้อย่างไร ก็จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ราคาหมูไทยทรงตัวในระดับสูงได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาต้นทุนผลิตเป็นสำคัญเพราะปัจจุบันต้นทุนเฉลี่ยของไทยสูงเกือบ 100 บาทต่อกิโลกรัม แล้ว เมื่อบวกค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่นทำให้ราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท ถือว่าเป็นไปตามกลไกตลาด
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057