ลูกหนี้เฮ ธ.ก.ส. ออกมาตรการ "เยียวยาเกษตรกร" บรรเทาปัญหาน้ำท่วม-โควิด
ลูกหนี้เฮ ธ.ก.ส. ออกมาตรการ "เยียวยาเกษตรกร" บรรเทาปัญหาน้ำท่วม-โควิด ลดภาระชำระหนี้ให้เกษตรกร เช็ครายละเอียดแนวทางจ่ายหนี้ อัตราดอกเบี้ย ที่นี่
นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพื้นที่การเกษตรของประชาชน ธ.ก.ส. จึงออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน "เยียวยาเกษตรกร" โดยลดภาระการชำระหนี้ให้กับเกษตรกร 2 มาตรการหลัก ได้แก่
สำหรับเงื่อนไขมาตรการ "เยียวยาเกษตรกร" ที่ ธ.ก.ส. กำหนดไว้มีดังนี้
- มาตรการลดภาระหนี้เดิม เช่น การชำระดีมีคืนสำหรับลูกค้าที่ชำระหนี้ตามกำหนดจะได้รับการคืนดอกเบี้ยส่วนที่ชำระร้อยละ 20 หรือรายละไม่เกิน 2,000 บาท ปรับรูปแบบการชำระหนี้แก่เกษตรกรด้วยการแบ่งจ่ายชำระ แบ่งเป็นชำระเงินต้นร้อยละ 50 และดอกเบี้ยร้อยละ 50 เพื่อช่วยให้ชำระเงินต้นได้มากขึ้น
- มาตรการที่สอง คือ มาตรการขยายเวลาการชำระหนี้สำหรับลูกค้าได้รับผลกระทบจากอุทกภัยค่อนข้างมากที่ไม่สามารถชำระหนี้ปกติได้ครบตามจำนวน โดยเกษตรกรต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ถึงกำหนด ส่วนดอกเบี้ยและต้นเงินที่เหลือจะได้รับการขยายเวลาการชำระอีก 1 รอบการผลิตหรือไม่เกิน 1 ปี
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังมีมาตรการช่วยเหลือ "เยียวยาเกษตรกร" ลูกค้าภาระหนักที่ได้รับผลกระทบทั้งจากสถานการณ์โควิด -19 และอุทกภัย คือ มาตรการจ่ายน้อย ผ่อนคลาย ได้ลดดอกเบี้ย โดยลูกค้าชำระหนี้อย่างน้อยร้อยละ 1 ของต้นเงิน ธนาคารจะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ พร้อมกำหนดชำระหนี้ตามศักยภาพแต่ไม่เกิน 20 ปี
มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อฟื้นฟูลูกค้า เป็นสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายจำเป็นฉุกเฉิน วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 นาน 6 เดือน จากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ผ่อนจ่ายได้ไม่เกิน 3 ปี รวมถึงยังให้สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.50 ต่อปี โดยชำระไม่เกิน 15 ปี
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอสินเชื่อได้ที่ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
นายไพศาล ระบุเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นจากการสำรวจความเสียหายในภาพรวมพบว่า เกษตรกรได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทภัยในพื้นที่ 50 จังหวัด พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 1 ล้านไร่ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้พนักงาน ธ.ก.ส.ในภูมิภาคเข้าไปดูแลเกษตรกรและสำรวจความเสียหายเพื่อเร่งให้การช่วยเหลือโดยเร็วแล้ว
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w