"ภาษี 2565" ผู้ เสียภาษี ซื้อ กองทุน RMF-SSF หมดกังวล เก็บหนังสือรับรอง หักภาษี
"ภาษี 2565" รัฐบาลอำนวยความสะดวก ผู้ เสียภาษี ซื้อกองทุน RMF และ SSF ตั้งแต่ 1 ม.ค.65 เป็นต้นไป ไม่ต้องกังวล เก็บหนังสือรับรอง หักภาษี เริ่มใช้ปี ภาษี 2565
(4 พ.ย.2565) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมสรรพากรเป็นอีกหน่วยงานหนี่ง ที่ได้พัฒนารูปแบบการให้บริการ เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90/91) ในปีภาษี 2565 ซึ่งมีกำหนดยื่นแบบเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2566 โดยกรมสรรพากรได้เชื่อมโยงข้อมูลการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวม เพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Fund : SSF)
โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ผู้ซื้อหน่วยลงทุนที่แจ้งความประสงค์ใช้สิทธิยกเว้นภาษีต่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ที่ได้ซื้อหน่วยลงทุนไว้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจะส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ภายในวันที่ 15 มกราคม 2566 แทนการส่งหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุน มูลค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF และ SSF
ทั้งนี้ ผู้เสียภาษีสามารถตรวจสอบข้อมูลค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF และ SSF ที่กรมสรรพากรได้รับจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ผ่านระบบ My Tax Account ซึ่งเป็นระบบที่แสดงข้อมูลเงินได้ ค่าลดหย่อนภาษี และรายการยกเว้นภาษีเงินได้ ที่กรมสรรพากรได้เชื่อมโยงจากหน่วยงานภายนอกผ่านระบบ e-Filing สอบถามข้อมูล โทร.1161
นางสาวรัชดา กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมสรรพากร ยกระดับการให้บริการแก่ผู้เสียภาษี ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลลดหย่อน/ยกเว้นภาษีกับหน่วยงานภายนอกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561 ครอบคลุมเบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้ เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาฯ และดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย และในระยะต่อไปจะดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) ทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับสมาคมบริษัทจัดการกองทุนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ จากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล เพื่อก้าวสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เกิดการเปลี่ยนแปลง สร้างความพึงพอใจต่อประชาชนผู้มาใช้บริการ ส่งผลต่อการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ประจำปี 2022 ประเทศไทยได้รับการปรับอันดับขึ้นในหลายดัชนี
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
- เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทคู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถลดหย่อนค่าเบี้ยประกันของคู่สมรสได้สูงสุด 10,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
- เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ ค่าลดหย่อนภาษีที่ใด้รับสิทธิเมื่อรวมกับ
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบช.)
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
- กองทุนสงเคราะห์ตรูโรงเรียนเอกชน
- และ RMF ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057