"ประกันราคาข้าว 65/66" เงินเยียวยาไร่ละ 1,000 ธ.ก.ส. เคาะวันโอนเงินเข้าแล้ว
พร้อมโอนแล้ว "ประกันราคาข้าว 65/66" เงินเยียวยาไร่ละ 1,000 ธ.ก.ส. ได้วันโอนเงินเข้าบัญชี เกษตรกรโดยตรง 22 พ.ย.นี้
อัปเดต "ประกันราคาข้าว 65/66" ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 4 "ประกันรายได้ข้าว 65/66" วงเงินประมาณ 81,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นทั้งหมด 3 ก้อน ก้อนแรกเงินส่วนต่างประมาณ 18,700 ล้านบาท ก้อนที่สองมาตรการคู่ขนาน วงเงินประมาณ 7,500 ล้านบาท และอีกก้อนคือ เงินเยียวยาไร่ละ 1,000 ประมาณ 55,000 ล้านบาท รวมแล้ว 81,200 กว่าล้านบาท
ทั้งนี้ เกษตรกร ชาวนา เฝ้ารอว่า เงินส่วนต่างประกันรายได้ข้าว เงินเยียวยาไร่ละ 1,000 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรเมื่อไร โดยเบื้องต้น คาดว่า จะโอนเงินเข้าบัญชีภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 แต่ล่าสุด ได้กำหนดวันเข้าที่ชัดเจนแล้ว
ล่าสุด นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน เคาะราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2565/66 โดยจะกำหนดราคาส่วนต่างที่จะต้องจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 15 ต.ค.65 (งวดแรก) และพิจารณางวดถัดไปที่จะจ่ายทุก 7 วัน รวมจ่ายทั้งสิ้น 33 งวด จนจบโครงการ
กำหนดราคาประกันรายได้ข้าวเปลือก 5 ชนิด
- ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท รายละไม่เกิน 14 ตัน
- ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท รายละไม่เกิน 16 ตัน
- ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท รายละไม่เกิน 25 ตัน
- ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท รายละไม่เกิน 30 ตัน
- ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท รายละไม่เกิน 16 ตัน
ส่วนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูก เงินเยียวยาไร่ละ 1,000 กำหนดไม่เกินรายละ 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือนนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรโดยตรง คาดว่า การจ่ายเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้และเงินช่วยเหลือลดต้นทุนไร่ละ 1,000 บาท จะเริ่มจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย.2565 เป็นต้นไป
ขอให้เกษตรกรตรวจสอบชื่อบัญชี ธ.ก.ส.ให้ตรงกับชื่อที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ธ.ก.ส. หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่
นอกจากนี้ กรมการค้าภายใน ได้เตรียมการเดินหน้ามาตรการคู่ขนานอีก 3 มาตรการ เพื่อช่วยดึงราคาข้าวเปลือก ในช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมาก ได้แก่
- มาตรการชะลอขาย โดยให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจัดเก็บไว้ในยุ้งฉาง เป้าหมาย 2.5 ล้านตัน โดยรัฐบาลช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน
- มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวมของสหกรณ์ โดยช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ไม่เกิน 12 เดือน
- มาตรการเพิ่มสภาพคล่อง โดยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกและเก็บสต็อก เป็นระยะเวลา 2-6 เดือน ซึ่งรัฐจะช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3
ช่องทางการเช็คสิทธิ เงินเยียวยาเกษตรกร 65/66
- เข้าสู่เว็บไซต์ chongkho.inbaac.com คลิกที่นี่ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- กรอกเลขประจำตัวประชาชน เพื่อใช้ในการเช็ค "เงินเยียวยาเกษตรกร" หลังจากกรอกเลขบัตรประชาชน โดยจะมีรายละเอียดของบัญชี จำนวนเงิน และโครงการของเงินช่วยเหลือที่ได้รับ
- ตรวจสอบข้อมูลในแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile หลังจากตรวจสอบในเว็บไซต์แล้ว หากมีข้อมูลขึ้นว่าได้รับเงินโอน สามารถเข้าไปตรวจสอบยอดเงินได้ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ การเช็คเงินประกันรายได้ข้าว หากผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกรตรวจสอบระบบจะขึ้นข้อมูลว่า "ไม่พบข้อมูลการลงทะเบียน (โปรดติดต่อหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนเกษตรกรตามชนิดพืชที่ได้รับสิทธิตามโครงการ)"