สำเร็จอีกขั้น! กลุ่มข้าวอินทรีย์ ต.ป่าสัก ปลูกข้าวอินทรีย์ไทย โกอินเตอร์
สำเร็จอีกขั้น! กลุ่มข้าวอินทรีย์ ต.ป่าสัก ปลูกข้าวอินทรีย์ไทย ดังไกลถึงต่างประเทศ แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไม่น่าเชื่อ
กลุ่มข้าวอินทรีย์ ต.ป่าสัก อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์คุณภาพ สมาชิกทุกคนมีใจรักในการทำเกษตรอินทรีย์ ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน และพร้อมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ เรียนรู้ที่จะนำหลักวิชาการมาปรับใช้ในการผลิตข้าวอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานการผลิต
เพื่อให้ได้ข้าวที่ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยมีการบูรณาการกันหลายหน่วยงาน ซึ่งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด
นายประพจน์ พรหมฟัง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ กล่าวว่า กลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ตำบลป่าสัก ถือเป็นความภาคภูมิใจของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่คุณภาพของผลผลิตอยู่ในระดับดีมาก
ซึ่งตอนนี้มีบริษัทเอกชนรับซื้อข้าวเปลือกไปในราคาที่ 19 บาท เพื่อนำไปแปรรูปเป็นข้าวสารและส่งจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าหากผลิตข้าวที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐานรับรอง ส่งผลให้มีตลาดที่แน่นอนและมั่นคงได้
กลุ่มข้าวอินทรีย์ ต.ป่าสัก แห่งนี้ สามารถผลิตข้าวอินทรีย์อย่างมีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น บริษัท เดอะสุขขะเฮ้าส์ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ สหกรณ์กรีนเนท จำกัด โดยทางบริษัทเอกชนจะเข้ามามีบทบาทในการควบคุมระบบการผลิตของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์
ยกตัวอย่าง สหกรณ์กรีนเนท จำกัด จะเข้ามาแนะนำ พูดคุย กับสมาชิกภายในกลุ่มฯ ซึ่งสมาชิกภายในกลุ่มฯ ได้มีการปรึกษาหารือกัน และเกิดความสนใจที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวส่งจำหน่ายให้กับสหกรณ์กรีนเนท จำกัด โดยทางองค์กรจะขอมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) และ EU ต่อมาประมาณปีพ.ศ. 2563 ได้เริ่มทดลอง เรียนรู้ร่วมกัน
หลังจากนั้นจะมีการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวผ่านการขนส่งไปที่โรงสี จ.ยโสธร ซึ่งโรงสีจะมีการแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ขายภายใต้แบรนด์ของสหกรณ์กรีนเนท และส่งจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้กลุ่มข้าวอินทรีย์ ต.ป่าสัก ยังมีความโดดเด่นเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตข้าวอินทรีย์ จำหน่ายเป็นข้าวสารบรรจุถุงภายใต้ชื่อแบรนด์ “ข้าวแสนรัก” “สุขใจ” และ “ข้าวหอม” รวมไปถึงแปรรูปเป็น ชาใบข้าว และ Sleeping Mask ใบข้าว เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต และยังสร้างงาน สร้างอาชีพให้เกิดขึ้นในชุมชนอีกด้วย
จิรฐา สุริยาสัก สมาชิกกลุ่มข้าวอินทรีย์ ต.ป่าสัก เล่าว่า กลุ่มฯ ของเราจะมีการแปรรูปที่หลากหลายมาก อย่างเช่น การแปรรูปเป็นมากส์ นำใบข้าวแปรรูปเป็นใบชา หรือขนมไทยชนิดต่าง ๆ เป็นข้าวเหนียวหน้ากระฉีก ข้าวต้มมัด มีการโม่แป้งทำขนมเทียน ซึ่งในส่วนนี้ทำเพื่อขายในชุมชน เพราะเราต้องการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มากขึ้น
ด้านนายอโนชา ปาระมีสัก กล่าวถึง Sleeping Mask โดยจุดเริ่มต้นคือต้องการต่อยอดข้าวที่สมาชิกทำ มาแปรรูปเกี่ยวกับเวชสำอาง โดยมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำข้าวไรซ์เบอร์รี่มาแปรรูปเป็น Sleeping Mask ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการทดลอง คาดว่าจะวางจำหน่ายภายในปี 2566 และในอนาคตจะมีการแปรรูปข้าวเป็นเซรั่ม และไอศกรีมจากข้าว เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนได้มีรายได้จากตรงนี้เพิ่มขึ้น