คลี่ปม "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" จะจบที่จ่ายหนี้ หรือ ขยายสัญญาสัมปทาน
คลี่ปม ศึกทวงหนี้ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ค้างมาแล้ว 3 ปี 4 หมื่นกว่าล้าน จะจบที่จ่ายหนี้ หรือ ขยายสัญญาสัมปทานต่ออีก 30 ปี
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน คนกรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าสายแรกใช้งาน ซึ่งเป็นเส้นทางที่วิ่งผ่ากลางเมืองจากฝั่งใต้ไปฝั่งเหนือของกรุงเทพมหานครอย่าง "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ในเส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช และฝั่งธนบุรี ข้ามมายังฝั่งกรุงเทพมหานครอย่างสายสีลมในเส้นทาง สนามกีฬาแห่งชาติ-วงเวียนใหญ่ โดยรถไฟฟ้าเส้นนี้เอกชนเป็นผู้รับภาระก่อสร้างทั้งหมด ทั้งระบบโครงสร้าง และระบบการเดินรถ ภายใต้เงื่อนไขระยะเวลาสัญญาสัมปทาน 30 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2542-2572
แต่เมื่อเมืองขยายใหญ่ขึ้น ประชาชนมีความต้องการใช้บริการ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" เพิ่มขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่กรุงเทพมหานครจะต้องมีการพิจารณาสร้างรถไฟฟ้าสายสีเชียวส่วนต่อขยายช่วงที่หนึ่ง จากอ่อนนุช-แบริ่ง และ โพธิ์นิมิตร-บางหว้า ระยะทาง รวม 12.75 กม. โดยเริ่มเปิดให้บริการในปีพ.ศ. 2554-2556 โดยการบริหารจัดการในส่วนนี้ กทม.ในยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ในขณะนั้น ได้มอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT ว่าจ้าง บีทีเอส ด้วยวิธีพิเศษเป็นผู้เดินรถและดูแลระบบทั้งหมดระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี (พ.ศ.2555-2585)
หลังจากนั้นรัฐบาลได้ มีมติให้ก่อสร้างโครงการ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ส่วนต่อขยายที่ช่วง 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต รวมเป็นระยะทาง 32 กม. โดยรัฐเป็นผู้แบกรับค่าโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ซึ่งได้มอบหมายให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจาก กทม.ไม่มีอำนาจข้ามเขตจังหวัด กทม.เป็นผู้มอบหมายให้ KT ดำเนินการว่าจ้างให้บีทีเอสเดินรถบำรุงรักษา พร้อมทั้งติดตั้งระบบไฟฟ้า
- จุดเริ่มความยุ่งเหยิง "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" จากโอนความรับผิดชอบจนถึงปมทวงหนี้
ในปี 2558 กระทรวงคมนาคมเสนอ ครม.ให้โอน "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ให้ กทม. เป็นผู้ดูแลทั้งเส้นทาง
ในปี 2560 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ขณะนั้น ลงนามใน สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ที่ 2 ระหว่างกรุงเทพธนาคม และบีทีเอส ครอบคลุมระยะเวลา 25 ปี พ.ศ. (2560-2585) เป็นการเปิดให้บริการฟรีโดยยังไม่เก็บค่าโดยสาร ซึ่ง ภาระค่าดำเนินการบีทีเอสเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษา (O&M) จำนวน 18,000 ล้านบาท ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) 20,000 ล้านบาท
ปัญหาการบริการจัดการ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ดูเหมือนจะเริ่มมีปมขึ้นมามากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่ เมื่อปี 2561 ครม.มีมติโอนย้ายรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นทาง รวมกับภาระหนี้สินที่ต้องจ่ายคืน รฟม.อีกจำนวน 60,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าก่อสร้างระบบโครงสร้าง รวมไปถึงค่าดำเนินการว่าจ้างเดินรถ ซึ่งทำให้ กทม.ตกอยู่ในสถานะที่ต้องแบกรับหนี้สินมากถึง 100,000 ล้านบาท ปัจจุบันการโอนย้ายยังไม่จบสิ้นกระบวนการ
- ปัญหายังไม่จบ แต่รถไฟฟ้าต้องเดินรถให้บริการประชาชนต่อ
เมื่อปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกทั้งค่าเดินรถ ค่าระบบต่าง ๆ ที่ บีทีเอส กู้มาดำเนินการและเฝ้ารอวันที่จะได้รับการชำระหนี้ตามกฎหมายยังดูเหมือนจะไร้วี่แวว ทำให้ในช่วงปี 2562 คสช. ได้มีคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 11 เม.ย. เรื่องการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องในโคงข่ายเดียวกัน (Through Operation) โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาสัมปทาน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร เจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม และจัดร่างสัญญาร่วมลงทุน แต่ดูเหมือนความคืบหน้าและควาดเจนในการจ่ายเงินส่วนที่เอกชนต้องจ่ายไปจะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่อย่างใด
- แบกรับค่าใช้จ่ายนานกว่า 3 ปี สุดท้ายร้องศาลจนถึงปล่อยคลิปวีดีโอเพื่อทวงหนี้
ประมาณกลางปี 2565 บีทีเอสเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง เพื่อทวงหนี้กทม. โดยแบ่งหนี้สินออกเป็นทั้งหมด 3 ส่วน ดังนี้
- ค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษา (O&M) จำนวน 18,000 ล้านบาท
- ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จำนวน 20,000 ล้านบาท
- ค่าเดินส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 3,710 ล้านบาท
หลังจากนั้น นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้ออกมาทวงหนี้อย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก หลังจากที่ กทม.ค้างจ่ายเงินมานานกว่า 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2562-2565 พร้อมกับยืนยันว่าไม่เคยร้องขอให้มีการต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี เพียงแต่ต้องการให้ ลูกหนี้จ่ายหนี้คืนเท่านั้น
ดูเหมือนว่าการเดินหน้าฟ้องศาลปกครองเพื่อทวงหนี้จะไมได้ผล ทำให้ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา นายคีรี ได้ปล่อยคลิปวีดีโอ ทวงหนี้สายสีเขียวจำนวน 40,000 กว่าล้านบาท โดยสรุปใจความว่า
"คนเราจะอดทนกับการแบกหนี้ได้นานแค่ไหน…ทำงานแต่ไม่ได้เงิน ต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกวัน… ผู้มีอำนาจโยนไปโยนมา ไร้การตัดสินใจ ถึงเวลาเข้ามาจัดการปัญหา อย่าหนีปัญหา…อย่าปล่อยให้เอกชนสู้เพียงลำพัง ถึงเวลาจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 40,000 ล้าน #ติดหนี้ต้องจ่าย"
คลิปดังกล่าวทำให้กทม. ต้องแถลงชี้แจงเรื่องราวดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยสามารถสรุปใจความได้ว่า
ส่วนต่อขยายที่ 1
กทม. ไม่ได้มีเจตนาจะไม่ชำระหนี้เนื่องจาก กทม. ได้มีการสนับสนุนค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมาตลอดจนถึงเดือน เม.ย. 2562 จนกระทั่งมีคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 ที่ได้มีการตั้ง คณะกรรมการดำเนินโครงการ และ ได้มีการเจรจาให้ เอกชน รับภาระค่าจ้างเดินรถของส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่ พ.ค. 2562 (ระบุไว้ในร่างสัญญาร่วมทุน)
• มูลค่าหนี้อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ค่าดอกเบี้ย เนื่องจาก กทม. ไม่มี เจตนาจะไมGชำระหนี้ และ สัญญาที่ กทม. ทำกับ KT ไม่ได้มีการ กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้
• กทม. เห็นว่า KT มีการจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อตรวจสอบ คิด
คำนวณค่าจ้างใหม่ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงซึ่งอาจทำให้ยอดหนี้ เปลี่ยนไปไม่ตรงกับที่เอกชนฟ้อง
ส่วนต่อขยายที่ 2
• บันทึกมอบหมายยังไม่สมบูรณ์เนื่องจากยังไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากสภากรุงเทพมหานคร
• กทม. ไม่ได้มีการทำนิติกรรมโดยตรงกับ เอกชน มีเพียงการทำบันทึก
มอบหมายให้กับ KT เท่านั้น นอกจากนี้ในบันทึกข้อตกลงมอบหมาย ข้อที่ 13.3 ยังมีการระบุไว้ว่า “บันทึกข้อตกลงนี้ไม่มีผลทำให้บริษัทฯ (KT) เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของกรุงเทพมหานคร"
ทั้งนี้การชำหนี้ทั้งหมด กทม. ต้องรอความชัดเจนจาก ครม.ก่อนว่าจะขยายเวลาสัมปทานให้แก่บริษัทเอกชนหรือไม่ หากมีมติ ขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก 30 ปี หนี้สินทั้งหมดจะถูกโอนไปในสัญญาสัมปทานใหม่ทันที
- ผู้เชี่ยวชาญแนะทางออกคลี่ปม "รถไฟฟ้าสายสีเขียว"
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและท่าอากาศยาน กล่าวว่า ทางออกของกทม. ในครั้งนี้ คือ ชำระหนี้ให้แก่บริษัทเอกชนตามที่ศาลปกครองได้มีคำสั่งไปแล้วเมื่อช่วงเดือน ก.ย. 65 ที่ผ่านมา หรือ หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็ควรจะมีการชดเชยให้เอกชนเป็นเวลาแทน โดยการขยายสัญญาสัมปทานให้แก่เอกชนแทน ซึ่งกรณีประชาชนอาจจะต้องจ่ายค่าโดยสารอยู่ที่ประมาณ 15-65 บาท
อย่างไรก็ตามปรากฎการณ์การทวงหนี้เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าเอกชนสุดจะทนแล้ว เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายทุกวันคนเป็นหนี้ก็ต้องจ่าย หากไม่มีเงินจ่ายก็ควรชดใช้เป็นเวลาให้แทน ส่วนกรณีที่จะไม่ขยายสัญญาสัมปทานใหม่ ในเส้นทางหลักอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะต้องรอให้สัญญาสัมปทานจบลงในปี 2585 เสียก่อน ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้น หนี้สินจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ