ฝ่าวิกฤต ค่าไฟ แพง กพช. เคาะแนวทาง ตรึง ค่าไฟฟ้า 4 เดือน - อุ้ม กลุ่มเปราะบาง
"กพช." ฝ่าวิกฤตพลังงาน เคาะ 3 แนวทาง ตรึง ค่าไฟฟ้า 4 เดือน ม.ค. - เม.ย.2566 ขอ ปตท. 6,000 ล้าน อุ้ม ค่าไฟ กลุ่มเปราะบาง
จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่าง สหพันธรัฐรัสเซีย และประเทศยูเครน ที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกมีความผันผวน และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนเชื้อเพลิง สำหรับผลิตไฟฟ้าของประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จึงได้มีการพิจารณาแนวทาง เพื่อลดภาระค่าไฟในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน โดยมุ่งเน้นในส่วนของการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า
(25 พ.ย.2565) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม กพช.ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จึงได้มีมติเห็นชอบแนวนโยบายการบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน (ตั้งแต่ ม.ค. - เม.ย. 66) ดังนี้
1. ปรับอัตราค่า FT สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย โดยจัดสรรก๊าซฯ จากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซฯ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยก่อน ในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปคำนวณอัตราค่าไฟฟ้า ตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft และมอบหมายให้ กกพ. เร่งศึกษาการจัดทำอัตราค่าไฟฟ้ากลุ่มประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน
2. กพช.ได้ขอความร่วมมือจาก ปตท. ให้พิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค.- เม.ย. 66) มาช่วยสนับสนุนในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยแบ่งการจัดสรร ดังนี้
- ส่วนที่ 1 เป็นส่วนลดราคาค่าก๊าซฯ ให้กับ กฟผ. เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแลการดำเนินการต่อไป
- ส่วนที่ 2 เป็นส่วนลดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงแยกก๊าซฯ ในการคำนวณต้นทุนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิง
3. กพช. มีมติเห็นชอบให้ ปตท. ร่วมกับ กฟผ. บริหารจัดการผลกระทบของราคาก๊าซธรรมชาติต่อค่าไฟฟ้า โดยให้ ปตท. คิดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. IPP และ SPP ในระดับราคาเดียวกับที่ใช้การประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตั้งแต่เดือนที่ กพช. มีมติเป็นต้นไป
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. มีมติเห็นชอบการดำเนินการตามมาตรการการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response) ในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดการใช้ก๊าซฯ โดยกำหนดให้ผลตอบแทนจากการดำเนินมาตรการ Demand Response เป็นส่วนหนึ่งของค่า Ft และมอบหมายให้ กกพ. เร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้สามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในภาพรวมต่อไป
อีกทั้ง ที่ประชุม กพช. ได้มติมอบหมายให้ กบง. พิจารณาดำเนินการและกำกับดูแลแนวทางการบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงานต่อไป.