"ข้าวหอมมะลิไทย" เสียแชมป์ให้ ผกาลำดวน กัมพูชา ฉิวเฉียดเพราะความหอมลดลง
"มนัสนิตย์" สะท้อนมุมมอง "ข้าวหอมมะลิไทย" แพ้ ผกาลำดวน กัมพูชา เป็นการแปลงวิกฤติเป็นโอกาส เร่งทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญ มั่นใจข้าวไทยยังยืนหนึ่งในเวทีโลก
การประชุมข้าวโลก ประจำปี 2022 (World Rice Conference 2022) จัดโดยนิตยสารเดอะไรซ์ เทรดเดอร์(The Rice Trader: TRT) ที่จ.ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการนำเข้า ส่งออกข้าวจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน มีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การประกวด ข้าวพันธุ์ดีที่สุดในโลก โดยมี 9 ประเทศส่งข้าวประกวดครั้งนี้ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ลาว อินเดีย ปากีสถาน จีน และสหรัฐฯ ซึ่งผลการประกวดปีนี้ ผกาลำดวน (Phka Rumduol) จากกัมพูชา คว้ารางวัลข้าวดีที่สุดในโลกไปครอง รองลงมา ข้าวหอมมะลิ 105 "ข้าวหอมมะลิไทย" ข้าวหอมเวียดนาม และข้าวหอมสปป.ลาว ตามลำดับ
นางสาวมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยในการเข้าร่วมงานครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ ได้แก่ การทำมาร์เก็ตติ้งเซอร์เวย์เพื่อรวบรวมข้อมูลความเห็นของผู้เข้าร่วมงานเพื่อนำมาวิเคราะห์หาบทสรุปในการปรับปรุพัฒนา ข้าวไทย ต่อไป และการนำข้าวที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดข้าวพันธุ์ดีเพื่อการพาณิชย์ของไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา จำนวน 6 สายพันธุ์มาหุงให้กับผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองชิม ปรากฏว่าได้รับสนใจและตอบรับจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม "ข้าวหอมมะลิไทย" เพื่อการพาณิชย์ทั้ง 6 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ข้าวหอม 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวหอม PTT13030 และข้าวหอม BioH95-CNT ส่วนข้าวขาวพื้นนุ่ม 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวพันธุ์ RJ44 และข้าวพันธุ์ CNT15171 และข้าวขาวพื้นแข็ง 2 สายพันธุ์ได้แก่ ข้าวพันธุ์ PLS16348 และข้าวพันธุ์ CNT07001
“เราเอาข้าวทั้งหมด 6 สายพันธุ์ที่ชนะการประกวดไปให้กับผู้ที่เข้าร่วมงานลองชิม ซึ่งประกอบด้วยผู้นำเข้า ส่งออกและผู้ที่อยู่ในวงการค้าข้าวจากทั่วโลกมาชุมนุมมารวมตัวกัน ในงานนี้ เราได้ใช้โอกาสนี้ให้เขาทดสอบทานข้าวของเราเพื่อเราจะเก็บรวมรวมข้อมูลดังกล่าวไปกำหนดทิศทางการผลิตและส่งออกเพื่อให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกต่อไป” รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าว
นางสาวมนัสนิตย์ กล่าวถึงเกณฑ์การตัดสินการประกวดข้าวในปีนี้ว่าคณะกรรมการตัดสินให้คะแนนทางกายภาพคะแนน 50 คะแนนและความหอม 50 คะแนน ซึ่งข้าวหอมมะลิ 105 "ข้าวหอมมะลิไทย" ได้คะแนนเต็มทางกายภาพ ส่วนคะแนนความหอมนั้นพลาดท่าเสียแต้มให้กับผกาลำดวนเพียง 1 คะแนนเท่านั้น ทำให้ "ข้าวหอมมะลิไทย" ต้องเสียแชมป์ข้าวหอมปีนี้ให้กับ ผกาลำดวนของกัมพูชา
รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ยอมรับว่าความหอม "ข้าวหอมมะลิไทย" ลดลงไปไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราเพิ่งจะทราบ แต่เรารู้อยู่แล้วจากการสะท้อนของผู้นำเข้าและผู้บริโภคในต่างประเทศ ประกอบกับปีที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมในภาคอีสานอาจมีปัญหาจากแหล่งผลิตอาจมีน้ำมากเกินไปในพื้นที่เพาะปลูกทำให้ให้ความหอมของ "ข้าวหอมมะลิไทย" ลดลง เนื่องจากข้าวหอมมะลิจะเร่งความหอมได้ดีในพื้นแห้งแล้ง ดินเลว ฉะนั้นถ้าน้ำมากจะมีผลกระทบต่อความหอมของข้าวด้วย
“การที่เราเสียแชมป์ ไม่ได้รางวัลชนะเลิศปีนี้ ไม่ใช่เป็นเครื่องยืนยันว่าข้าวเราไม่ดี ไม่มีคุณภาพ เพราะจากการเซอร์เวย์ของกรมการค้าต่างประเทศที่นำข้าวมาโชว์ทั้งหมด 6 พันธุ์หุงให้ผู้เข้าร่วมงานรับประทานกัน ทุกคนยอมรับว่าข้าวไทยมีศักยภาพที่เข้าสู่ตลาดได้ และ "ข้าวหอมมะลิไทย" ยังเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคเพียงแต่ว่าปีนี้อาจจะไม่ได้รับรางวัลด้วยเหตุผลที่ว่าเนื่องสภาพภูมิอากาศที่ด้อยลงไป แต่ก็มองเป็นการแปลงวิกฤตเป็นโอกาสของข้าวไทยส่งสัญญาณให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหันกลับมาดูว่า "ข้าวหอมมะลิไทย" ควรพัฒนาและปรับปรุงพันธ์ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมอย่างไรต่อไป ถ้าเราชนะตลอดเราก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรในวันนี้ ทำให้เราเห็นว่า เราประเทศอื่นเขาพัฒนาขยับมาใกล้เราแล้ว ฉะนั้นราต้องเร่งสปีดให้ห่างจากเขาให้มากที่สุด ถือเป็นสัญญาณที่ดีมองวิกฤตเป็นโอกาส”