เปิดปม "วิกฤตเศรษฐกิจ-พลังงาน" หรือ พลังงานหมุนเวียน จะเป็นคำตอบ?
ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. “PRISM Experts” คาดราคาน้ำมันดิบปี 66 เฉลี่ย 85-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ชี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นช่วงครึ่งหลัง คาดอุปทานน้ำมันจากรัสเซียหายจากตลาด หลังยุโรปเริ่มคว่ำบาตรการนำเข้าเต็มรูปแบบ "ปลัดพลังงาน-แบงก์ชาติ-อบก." ผนึกเสียงหนุนนโยบายพลังงานสะอาด
กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และบริษัทในกลุ่ม ปตท.จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนาออนไลน์ 2022 The Annual Petroleum Outlook Forum : Thriving amid Global Energy Volatility towards Sustainable Future เติบโตอย่างยั่งยืนท่ามกลางความผันผวนของพลังงานโลก เจาะลึกสถานการณ์ราคาพลังงานโลก
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลายประเทศให้ความสำคัญความมั่นคงพลังงานและการเข้าถึงพลังงาน รวมทั้งสภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่แปรปรวนรวมถึงภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ทำให้ต้องร่วมมือแก้ปัญหา Climate Change ต่อเนื่องจริงจัง โดยนักวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน กลุ่ม ปตท. หรือ PRISM Experts ได้นำเสนอข้อมูลและวิเคราะห์ทิศทางราคาน้ำมันรวมถึงความท้าทายที่อุตสาหกรรมพลังงานต้องเผชิญ
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์พลังงานโลกยังผันผวนจากโควิด-19 และวิกฤตการเมืองโลก โดยสภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวทำให้ความต้องการพลังงานสูงขึ้น รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่นำไปสู่วิกฤตพลังงานในหลายประเทศ
ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระเร่งด่วนที่ประชาคมโลกต่างต้องร่วมมือแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งท่ามกลางความผันผวน กลุ่ม ปตท. ได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และเตรียมพร้อมจัดหาพลังงานรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศได้ต่อเนื่อง พร้อมปรับทิศทางและกลยุทธ์องค์กรมุ่งพัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต ตอบรับทิศทางโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปทั้งธุรกิจพลังงานไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจใหม่อื่นๆ
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี ค.ศ.2030 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2040 และ Net Zero ภายในปี ค.ศ.2050 เร็วกว่าเป้าหมายประเทศ โดย กลุ่ม ปตท. จะเป็นกำลังสำคัญสร้างความมั่นคงทางพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตสมดุลและยั่งยืน
นายสิรวิชญ์ สมรัตนกุล PRISM Expert กล่าวว่า ตลาดน้ำมันโลกได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สะท้อนวิกฤตอุปทานน้ำมันโลก
ทั้งนี้ หากย้อนดูราคาน้ำมัน 10 ปี ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มโอเปค เคยลดกำลังการผลิตทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นเวลากว่า 3 ปี ส่งผลให้เกิด Technology Breakthrough เมื่อสหรัฐคิดค้นนวัตกรรมจากชั้นหิน เพิ่มซัพพลายเข้ามาในตลาด และทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลง
ขณะที่ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จนทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มสูงอีกครั้ง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเหตุความขัดแย้งระหว่างรัสเซียเเละยูเครน ซึ่งยังคงรุนแรง ยืดเยื้อยาวนานจนปัจจุบัน
“รัสเซียมีบทบาทกับน้ำมันในตลาดโลกมีกำลังผลิตน้ำมันดิบวันละ 11 ล้านบาร์เรล เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาที่จะเน้นใช้ในประเทศ โดยรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบสูงถึง 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปตลาดยุโรป 50% และยังมีการขนส่งทางท่อไปยังจีนและยุโรปอีกด้วย ซึ่งภายในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ ยุโรปจะคว่ำบาตรรัสเซียอย่างเต็มรูปแบบ ทางกลุ่ม PRISM คาดการณ์ว่า ซัพพลายของรัสเซียอาจจะปรับตัวลดลงราว 0.5-1 ล้านบาร์เรลต่อวัน”
นายนิธิภัทร แสงดาวฉาย PRISM Expert กล่าวว่า น้ำมันแพงส่งผลต่อวิถีชีวิตการจับจ่ายประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสาเหตุหลักของเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาจาก รัสเซีย เนื่องจากเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และยังส่งออกเหล็ก นิเกิล และพาลาเดียม รวมไปถึงน้ำมันดอกทานตะวันและข้าวสาลี นอกจากนี้น้ำมันดอกทานตะวันยังเป็นสินค้าทดแทนน้ำมันปาล์ม เมื่อน้ำมันดอกทานตะวันมีปัญหาจากสงครามรัสเซีย
เห็นได้ชัดว่าผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้น โดยราคาของก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน สูงขึ้นกว่าตอนต้นปีเกือบเท่าตัว รวมถึงราคาของธัญพืชเช่นกัน หากเรามองเงินเฟ้อในสัดส่วน 100% พบว่า 41.9% คือพลังงาน อีกส่วนหนึ่งคืออาหารที่รวมกันก็มากถึงกว่า 60% ไปแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย
“กลุ่ม PRISM คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2566 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 85-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากปีนี้ที่อยู่ที่ระดับ 99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ก็ยังถือว่าราคาอยู่ในระดับที่สูง เพราะหากมองย้อนกลับไปเมื่อ 3-4 ปีแล้ว ราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยอยู่เพียงแค่ 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น แต่ราคาที่คาดการณ์อาจจะแกว่งตัวด้วยความไม่แน่นอนหลายรูปแบบ ทั้งสงครามรัสเซียและยูเครน ปัญหาเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย และยังมีความเสี่ยงจากปัญหาโลกร้อน สิ่งที่ทำได้ขณะนี้คือ การประหยัดพลังงานและไม่ประมาท”
นายเดชาธร ฐิสิฐสกร PRISM Expert กล่าวว่า โลกมาถึงจุดวิกฤตที่ท้าทายด้านพลังงาน อาทิ ภัยธรรมชาติ โรคระบาด ภัยสงครามที่ส่งผลโดยตรงต่อราคาพลังงาน ถึงเวลาที่โลกต้องตระหนัก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงจากภัยธรรมชาติ กระทั่งสหประชาชาติ (UN) ร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเรียกร้องให้ทุกประเทศลงนามสัตยาบัน Carbon Neutral 2050 ลดการปล่อยควัน เช่นเดียวกับรัฐบาลไทยกำหนดนโยบายหลายมาตรการ
“ปัจจุบัน เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างเสถียรภาพของพลังงานจากแหล่งที่เป็นพลังงานฟอสซิลก่อน และเมื่อโลกของเราได้มีการฟื้นตัวทางด้านของเศรษฐกิจ และรวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ที่มีราคาที่ถูกลงและมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น เมื่อถึงตอนนั้นก็จะสามารถมาดูแลสิ่งแวดล้อมของโลกเราให้มีความยั่งยืนต่อไป ดังรูปทรงของสามเหลี่ยม PRISM ที่มีการสร้างสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม”
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมแผนเร่งดำเนินการ รองรับน้ำมันที่ยังผันผวนและกรณีราคา LNG สูง โดยไทยนำเข้า LNG ประมาณ 40% จึงต้องเร่งปริมาณการผลิตแหล่งก๊าซในอ่าวไทย รวมถึงใช้น้ำมันดีเซลทดแทนในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการกลับมาใช้ฟอสซิลระยะสั้น เพราะว่าถ่านหินยังคงเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงที่ถูก และซื้อไฟจากเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ระยะยาวต้องลงทุน Green Energy เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ในปี 2040 และสนับสนุนการผลิตรถยนต์ EV รวมถึงเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจาก 9 เขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้เป็นพลังงานสะอาด 10,000 เมกะวัตต์ ภายใน 20 ปี และเพิ่ม Solar farm Solar Rooftop พลังงานลม โรงไฟฟ้าขนาดย่อมที่มาจากชีวมวลและจากขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม เพราะในอนาคตการขายไฟฟ้าต้องมาจากพลังงานสะอาด ซึ่งบางภูมิภาคมีการออกกฎระเบียบเงื่อนไขทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ถือเป็นเมกะเทรนด์ที่จะตอบโจทย์รวมถึงเตรียมการรองรับ
นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 จีดีพีไทยติดลบมาก แบงก์ชาติได้ช่วยเหลือ 3 ข้อหลัก คือ 1.ลดอัตราดอกเบี้ย 2.สินเชื่อซอฟต์โลนฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัว 3.การปรับโครงสร้างหนี้เมื่อจบเรื่องโควิดภาวะเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น แต่กลับมีประเด็นน้ำมันของแพงจากซัพพลายเชนดิสรัปชันจึงต้องปรับดอกเบี้ยการเงินให้อยู่ในสภาวะที่สมดุล
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาคการเงินของไทยต้องปรับนโยบายหนี้ครัวเรือนเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องปรับแนวคิดการจัดการข้อมูลสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การจัดสรรเงินทุนที่เหมาะสม อาทิ หากใครทำธุรกิจ Green จะได้รับสิทธิที่มากกว่า โดยเอกชนรัฐต้องปรับตัวตระหนักรู้ เปลี่ยนผ่านสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมกัน
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวว่า โอกาสและความท้าทายจากโควิดและวิกฤตพลังงาน รวมถึงการเกิดวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกเลยพร้อมๆ กัน ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟป่า ส่งผลให้มีข้อตกลงร่วมกันในการประกาศเจตจำนงความเป็นกลางทางคาร์บอน และเกิดมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายกับประเทศไทย หากหลังจากโควิด-19 หรือวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว เราต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อสร้างโอกาสการลงทุนของต่างชาติเข้ามาในประเทศ
“ราคาฟอสซิลผันผวนเกิดโอกาสสร้างพลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ต้องดำเนินควบคู่กันสิ่งสำคัญคือ กลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต การกำหนดภาษี และประเมินราคา ซึ่งปีหน้าจะเห็นความชัดเจน ถือเป็นโอกาสและความท้าทายของไทย ซึ่งทุกภาคส่วนต้องปรับตัวร่วมกันและไม่ประมาท”
สามารถติดตามรับชมย้อนหลังงาน 2022 The Annual Petroleum Outlook Forum : "Thriving amid Global Energy Volatility towards Sustainable Future – เติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความผันผวนของพลังงานโลก” ได้โดย คลิก