ข่าว

อยากให้รัฐบาล "แก้ปัญหาปากท้อง" ยังไงดี?

อยากให้รัฐบาล "แก้ปัญหาปากท้อง" ยังไงดี?

03 ธ.ค. 2565

อยากให้รัฐบาล "แก้ปัญหาปากท้อง" ยังไงดี : มีคำตอบอยู่ในโพลของรัฐบาล ที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับ "การวางแผนในอนาคต พ.ศ. 2565" เป็นหนึ่งในวาระการประชุมครม. เมื่อ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา

นับจากนี้เรียกได้ว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเข้าโค้งสุดท้าย เตรียมเคาท์ดาวน์ครบวาระ 23 มีนาคม 2566 นี้ 


จึงต้องจับตาแพคเกจโปรโมชั่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่หลายรัฐบาลที่ผ่านมา มักเลือกห้วงเวลาแบบนี้ในการจัดเต็มในการโกยแต้มด้วยนโยบาย


และอีกสิ่งที่พบบ่อย คือการทำผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ในเรื่องๆต่างๆ เพื่อออกนโยบายมาตอบโจทย์

ล่าสุดก็มีผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับ "การวางแผนในอนาคต พ.ศ. 2565" ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอเป็นวาระเพื่อทราบ ในการประชุมครม. เมื่อ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา


ซึ่งเป็นผลสำรวจที่ร่วมกับอีก 3 กระทรวงเป็นอย่างน้อย คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน

 

ผลสำรวจแบ่งเป็นหัวข้อแยกย่อย 7 ข้อ น่าสนใจ 

ข้อ 1 ถามถึงเรื่องการการวางแผน พบว่า 73.2% มีวิธีการวางแผน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ฝากธนาคาร/สถาบันการเงินอื่น 2.เก็บเป็นเงินสด และ 3.เป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ต่าง ๆ

 

ขณะที่ 26.8% ระบุว่าไม่มีการวางแผนด้านการเงิน เนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอ 

 

และพบว่าผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-59 ปี บอกว่ามีการวางแผนด้านการเงินในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุ 18-19 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีรายได้สูงจะมีการวางแผนด้านการเงินมากกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย


ข้อ2 ถามถึงเรื่อง การวางแผนด้านการทำงาน/อาชีพ พบว่า 74% มีวิธีการวางแผน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ทำงานหรือประกอบอาชีพเดิมต่อไป เนื่องจากมีความมั่นคงสูง 2.หาแหล่งรายได้เสริม เช่น ทำงานล่วงเวลา และทำอาชีพเสริม และ 3. ประกอบธุรกิจส่วนตัว 

 

ขณะที่ร้อยละ 26 ระบุว่าไม่มีการวางแผนด้านการทำงาน/อาชีพ เนื่องจากไม่มีความรู้ในการวางแผน


และพบว่า ผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-59 ปี บอกว่ามีการวางแผนด้านการทำงาน/อาชีพในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุ 18-19 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป

 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาชีพ เช่น ข้าราชการ ค้าขาย ประกอบธุรกิจส่วนตัว พนักงาน และลูกจ้างเอกชน มีการวางแผนด้านการทำงาน/อาชีพมากกว่าผู้ที่ว่างงาน/ไม่มีงานทำ นักเรียน/นักศึกษา และอาชีพอื่น ๆ เช่น พ่อบ้าน และแม่บ้าน


ข้อ 3 ถามถึงเรื่อง การวางแผนชีวิตครอบครัว พบว่า 72.7% มีวิธีการวางแผน 3 อันดับแรก ดังนี้ 1. สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ครอบครัว 2. ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และ/หรือวางแผนการศึกษาให้บุตรและคนในครอบครัว และ3.ทำประกันชีวิต 

 

ขณะที่ 27.3% บอกว่าไม่มีการวางเผนชีวิตครอบครัว เนื่องจากคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว/เป็นเรื่องของอนาคต


ข้อ4 ถามถึงการดูแลสุขภาพตนเอง 89.5% มีวิธีการดูแลสุขภาพตนเอง 3 อันดับแรก ได้แก่  1.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 2.ออกกำลังกายเป็นประจำ สม่ำเสมอ และ 3.เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น มังสวิรัติ วิตามิน และคอลลาเจน 

 

ขณะที่ 10.5% บอกว่าไม่มีการดูแลสุขภาพตนเอง เนื่องจากคิดว่าร่างกายแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องดูแลสุขภาพ และไม่มีเวลา เช่น ต้องทำงานหนัก และมีภาระต้องรับผิดชอบมาก 

 

และพบว่า ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการดูแลสุขภาพในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีรายได้สูงมีการดูแลสุขภาพมากกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย


ข้อ 5 ถามถึง การวางแผนเพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดี  พบว่า 76.5% มีวิธีการวางแผน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ปรับปรุงที่อยู่อาศัย เช่น ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างความร่มรื่น 2.เลือกที่อยู่อาศัยที่ไม่แออัด และ 3.เลือกที่อยู่อาศัยที่สะดวกต่อการเดินทาง 

 

ขณะที่ 23.5% บอกว่าไม่มีการวางแผนเพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดี เนื่องจากคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว/เป็นเรื่องของอนาคต 

 

และพบว่า ผู้ที่มีอายุ 20-59 ปี มีการวางแผนเพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุ 18-19 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีรายได้สูงมีการวางแผนเพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีในสัดส่วนที่ สูงกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย

 
ข้อ6 ถามถึง ความพึงพอใจต่อสภาพความเป็นอยู่ในชุมชน/หมู่บ้าน พบว่า พึงพอใจมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ระบบสาธารณูปโภค เช่น น้ำดื่ม ไฟฟ้า และอาหาร  2.ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ 3.ความช่วยเหลือจากคนในสังคม เช่น เพื่อนบ้าน และคนในชุมชน/หมู่บ้าน 

 

และข้อ 7 ถามถึง เรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ พบว่า ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือมากที่สุด  3 อันดับแรก ได้แก่ 1.วรลดค่าครองชีพ 2. ควรส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพเสริม และ 3.  ควรจัดหาอาชีพสำหรับผู้ด้อยโอกาส/ผู้สูงอายุ 

 

ตอนท้ายของผลสำรวจ มีการสรุปเป็น "ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย" ถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ 

 

1.ควรให้ความช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน เช่น การลดค่าครองชีพ การสร้างอาชีพเสริมให้ประชาชน และจัดหาแหล่งเงินทุน/เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้
            

2.ควรส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนในอนาคตด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเงิน และด้านการทำงาน/อาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุน้อย กลุ่มนักเรียน/นักศึกษาและกลุ่มที่มีรายได้น้อย เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ สามารถนำมาใช้ในการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

 

3.ควรส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นของประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในการมีรายได้จากการประกอบอาชีพ รวมทั้งการรู้จักวางแผนการออม

 

4.ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้คนใน ชุมชน/หมู่บ้าน เช่น เพิ่มสถานที่จำหน่ายสินค้าของคนในชุมชน/หมู่บ้าน และส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชนอย่างยั่งยืนและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
            

5.ควรเพิ่มช่องทางการสื่อสารในการแจ้งข่าวสารต่าง ๆ ทั้งข่าวสารทั่วไป ข่าวการบริการของภาครัฐ และข่าวการเตือนภัยต่าง ๆ รวมทั้งสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข่าวสารอย่างรวดเร็วทั่วถึง และเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

 

อ่านดูแล้วไม่รู้ตรงกับความต้องการหรือไม่ จากนี้ก็รอชมก็แล้วกัน ว่าจะมีมาตรการอะไรออกมา เพื่อตอบโจทย์ผลสำรวจ