ข่าว

"กระทรวงเกษตรฯ" คลอด 15 นโยบาย ปี 66 ขับเคลื่อนความมั่นคงให้ เกษตรกรไทย

"กระทรวงเกษตรฯ" คลอด 15 นโยบาย ปี 66 ขับเคลื่อนความมั่นคงให้ เกษตรกรไทย

07 ธ.ค. 2565

"กระทรวงเกษตรฯ" ย้ำนโยบายหลัก 15 ด้าน ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ปี 66 เน้นทำงานเชิงรุก เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้พี่น้องเกษตรกร

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานของ "กระทรวงเกษตรฯ" ในปี 2566 ที่ยังคงเน้นย้ำนโยบายหลัก 15 ด้าน

 

 

ได้แก่ 1. นโยบาย “ตลาดนำการผลิต”  2. การสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก 3.การส่งเสริมสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start Up 4. การส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) 5. การพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) 6.การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร 7. การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

8. การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม 9. การส่งเสริมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 10.การประกันภัยพืชผล 11. การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน 12. การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน 13. การวิจัยและพัฒนา 14. การพัฒนาฐานข้อมูล Big Data ข้อมูลพื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง 15. การประกันรายได้

 

นโยบายเพื่อเกษตรกร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ  กล่าวว่า การทำงานในปี 2566 "กระทรวงเกษตรฯ" ยังคงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานยึดหลักยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ 15 นโยบาย โดยให้ทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ทั้งในเรื่องของยุทธศาสตร์เกษตร 4.0 ซึ่งในยุคต่อไป 4.0 คงจะไม่พอ จึงต้องนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัย เพื่อนำมาลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกร และบูรณาการการทำงานทั้งภายในกระทรวง หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วน ที่สำคัญตั้งใจที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตร โดยจะต้องสร้างเครื่องมือและสร้างโอกาสให้พี่น้องเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรด้านการเกษตรและบุคลากรด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

 

 

นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำในเรื่องการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนเครดิต ซึ่งทุกหน่วยงานต้องร่วมกันวางแผนว่าจะให้เกษตรกรเดินหน้าอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงและเงื่อนไขระดับโลก ซึ่งจะต้องปรับตัวตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่จะส่งออกสินค้าเกษตรได้ อีกทั้งขอให้ทุกหน่วยงานมีการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ อาทิ

        - การนำนโยบายรัฐบาล BCG Model ไปสู่การปฏิบัติ

        - ด้านเกษตรปลอดภัย จะทำอย่างไรให้เกษตรกรปลอดภัย ผู้บริโภคปลอดภัย ซึ่งถือเป็นหัวใจของการผลิต และเป็นนโยบายแรกที่มุ่งเน้นการดำเนินงานอย่างเข้มข้น

        - การผลักดันค่าตอบแทนให้อาสาสมัครเกษตร

        - การบริหารจัดการน้ำที่ดี การใช้น้ำอย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด

        - การแนะนำพืชเศรษฐกิจใหม่ ๆ พี่น้องเกษตรกร

        - การคาดการณ์ตลาดโลก ตลาดผู้บริโภคในอนาคต การตั้งเป้าหมาย “เป็นครัวของโลก” ต้องมีแหล่งผลิตอาหารที่เพียงพอสำหรับคนและสัตว์ ส่งเสริมการปลูกสำหรับอาหารในประเทศ เพื่อลดการนำเข้า

 

นโยบายเพื่อเกษตร

ด้าน นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมการข้าว ได้ดำเนินงานสอดรับกับนโยบายของ  ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการผลิตข้าวให้มีคุณภาพ ได้รับมาตรฐานสากล และที่สำคัญคือกระบวนการผลิตข้าว ที่ไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ทำให้ได้ข้าวที่ดีมีคุณภาพ ปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้การตลาดนำการเพาะปลูก ภาคีโรงสีเข้ามารับซื้อข้าวในราคาที่เหมาะสม ตามนโยบาย BCG Model ที่ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนในการเพาะปลูก มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

นอกจากนี้ กรมการข้าว ยังได้ดำเนินงานในเรื่องของการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพจากกรมการข้าวทั่วประเทศ โดยเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร สามารถนำเมล็ดพันธุ์ข้าวมาแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และศูนย์วิจัยข้าวทั่วประเทศ เพื่อให้ชาวนาได้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีสำหรับการเพาะปลูกและขยายพันธุ์ และยกระดับปริมาณและคุณภาพผลผลิตข้าวให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ต่อไปในอนาคต