ส.ป.ก.ขานรับ "นโยบายเกษตรกร" 15 ด้าน ปี 66 ดันคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น
ส.ป.ก.ขานรับ "นโยบายเกษตรกร" 15 ด้านหลังกระทรวงเกษตร ฯ เน้นทำงานเชิงรุก ปี 66 ตั้งเป้าดันคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พร้อมรับ "นโยบายเกษตรกร" หลัก 15 ด้าน ขับเคลื่อนการดำเนินงาน กระทรวงเกษตร ฯ ปี 66 เน้นทำงานเชิงรุก ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ร่วมรับฟังการมอบนโยบายผู้บริหารเพื่อขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2566
โดย กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการ เน้นย้ำ "นโยบายเกษตรกร" หลัก 15 ด้าน เพื่อช่วยให้เกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้แก่
1. นโยบาย "ตลาดนำการผลิต"
2. การสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก
3. การส่งเสริมสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start Up
4. การส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming)
5. การพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC)
6. การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร
7. การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
8. การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม
9. การส่งเสริมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)
10. การประกันภัยพืชผล
11. การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน
12. การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
13. การวิจัยและพัฒนา
14. การพัฒนาฐานข้อมูล Big Data ข้อมูลพื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง
15. การประกันรายได้
นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำในเรื่องการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนเครดิต ซึ่งทุกหน่วยงานต้องร่วมกันวางแผนว่าจะให้ เกษตรกร เดินหน้าอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงและเงื่อนไขระดับโลก ซึ่งจะต้องปรับตัวตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่จะส่งออกสินค้าเกษตรได้ อีกทั้งขอให้ทุกหน่วยงานมีการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กล่าวว่า ส.ป.ก. พร้อมเดินหน้าทำงานที่สอดรับกับ "นโยบายเกษตรกร" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกด้าน โดยเฉพาะด้านของภาคการส่งเสริมเกษตรกรใน เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้อยู่ได้ อยู่ดี มีความสุขในทุกๆด้าน และการนำนโยบายการทำเกษตรกรรมรูปแบบ BCG Model เพื่อลดการปล่อยมลพิษทางการเกษตรให้น้อยที่สุด และเพื่อพัฒนาสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินให้มีประสิทธิภาพ