ข่าว

สนค.จับมือมก.พัฒนาวิสาหกิจชุมชน สู่การเป็นต้นแบบบีซีจี โมเดล

สนค.จับมือมก.พัฒนาวิสาหกิจชุมชน สู่การเป็นต้นแบบบีซีจี โมเดล

15 ธ.ค. 2565

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือ สนค.จับมือมก.พัฒนาวิสาหกิจชุมชนตามแนวคิดบีซีจี โมเดล(BCG MODEL) หวังสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ

วันที่ 15 ธ.ค.65 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชิดพงษ์ ขีระจิตต์ หัวหน้าภาควิชาส่งเสริม และนิเทศศาสตร์เกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เผยภายหลังการลงนามในสัญญาความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ในการดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการยกระดับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพ และค้นหาต้นแบบวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินการภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อยกระดับมูลค่าสินค้าและบริการจากวิสาหกิจชุมชน ทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ได้มีการหารือร่วมกับ นางพรพรรณนิล ศตวรรษธำรง ผู้อำนวยการกองนโยบายการสร้างความเข้มแข็งทางการค้า และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการความร่วมมือดังกล่าว ณ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ จังหวัดนนทบุรี 

สนค.จับมือมก.พัฒนาวิสาหกิจชุมชน สู่การเป็นต้นแบบบีซีจี โมเดล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชิดพงษ์เผยต่อว่าสำหรับกิจกรรมแรกการดำเนินการยกระดับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมหลัก

ประกอบด้วย การ วิเคราะห์ศักยภาพ และค้นหาต้นแบบที่ดี (Best Practice) ของวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินการภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือก คือ 1. เป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้นทะเบียน และดำเนินกิจการต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 3 ปี 2. ผ่านการประเมินศักยภาพของกองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน อยู่ในระดับดีขึ้นไป และ 3. ดำเนินการภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างน้อย 2 กิจกรรม (Bio สร้างมูลค่า หรือเพิ่มประสิทธิภาพ / Circular ของเสียหรือขยะเป็นศูนย์ / Green สมดุลและยั่งยืน) โดยจะมีการจัดการประกวดเพื่อคัดเลือกวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสำหรับการบ่มเพาะเพื่อการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชน ทั้งภาคการผลิตสินค้า และภาคบริการ 

ส่วนกิจกรรมที่ 2 การบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมศักยภาพวิสาหกิจชุมชนในด้านการดำเนินธุรกิจ โดยการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนต้นแบบภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ได้รับการคัดเลือก และวิสาหกิจอื่นที่สนใจ ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพ กระบวนการผลิต (Processing) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Packaging) การจัดทำระบบสต๊อกสินค้า (Stock) การจัดทำบัญชี (Financing) การสร้างเรื่องราว (Storytelling) การสร้างแบรนด์ (Branding) การเจราจาการค้า การจัดจำหน่ายในรูปแบบ E-commerce การทำตลาดทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ รวมถึงการพาวิสาหกิจชุมชนต้นแบบไปศึกษาดูงานต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากองค์การหรือธุรกิจในระดับนานาชาติ รวมถึงการจัดทำ Business Matching กับบริษัท Modern trade ชั้นนำ และบริษัทนำเที่ยว เพื่อเป็นการขยายธุรกิจ (Scaling up) เข้าสู่กระบวนการเจรจาการค้าและการทำธุรกิจกับคู่ค้า (B2B) และช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าใหม่ 

หัวหน้าภาควิชาส่งเสริม และนิเทศศาสตร์เกษตรระบุอีกว่าสำหรับกิจกรรมที่ 3 จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อการพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้งภาคการผลิตสินค้า และภาคบริการ ในรูปแบบเวทีนโยบายสาธารณะ เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนต้นแบบภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และดำเนินรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา และผู้ทรงคุณวุฒิ วิสาหกิจชุมชนจากทั่วประเทศ สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรมจังหวัด คณะกรรมการ/เจ้าหน้าที่จากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมพัฒนาชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการ วิสาหากิจชุมชนต้นแบบและจำหน่ายสินค้า พร้อมมอบโล่ห์และเกียรติบัตรแก่วิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่ได้รับรางวัล