ผ่าทางตัน "กองทุนกยศ." 6 ทางออกแก้หนี้ 7 แสนล้าน
ผ่าทางตัน "กองทุนกยศ." 6 ทางออก แก้หนี้ 7 แสนล้าน: เป็นหนึ่งใน "ภาวะสังคมไตรมาสสาม 2565" ที่แถลงโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เมื่อ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา สภาพัฒน์ หรือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงเรื่อง "ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2565"
สภาพัฒน์ชี้ว่า มีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ 3 เรื่อง โดยหนึ่งในนั้นคือ "กยศ. : การส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยให้ยั่งยืน"
ข้อมูลของสภาพัฒน์ สะท้อนปัญหาของ "กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)" วา มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาให้กับนักเรียนและนักศึกษา
โดยในระยะแรก กยศ. ใช้งบประมาณจากรัฐในการให้กู้ยืม จนกระทั่งปี 2561 กยศ. สามารถปรับเป็นกองทุนหมุนเวียนเต็มรูปแบบ หรือไม่จำเป็นต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐ
และมีผลการให้กู้ยืมกับนักเรียนและนักศึกษาแล้วทั้งสิ้น 6.4 ล้านราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืม 706,357 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2565)
แม้ กยศ. จะสนับสนุนให้เด็กเข้าถึงการศึกษาเป็นจำนวนมาก แต่กลับมีผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 65 ของลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ทั้งหมด
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า กยศ. เป็นกองทุนที่มีหนี้เสียสูงที่สุดในประเทศ (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2563) ซึ่งปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว ไม่เพียงส่งผลต่อลูกหนี้เท่านั้น แต่ยังส่งผลครอบคลุมถึงผู้ค้ำประกัน โดยมีประชาชนที่เกี่ยวข้องมากถึง 6.4 ล้านราย
สาเหตุการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ กยศ. สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
1) ปัญหาจากลูกหนี้ มี 2 ด้าน คือ การขาดวินัยทางการเงิน อาทิ พฤติกรรมของลูกหนี้ที่มักนำเงินไปจ่ายชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยแพงก่อน ขณะเดียวกันลูกหนี้บางส่วนมีเจตนาที่จะไม่ชำระหนี้แม้จะมีความสามารถในการจ่าย และมาตรการส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้แก่ลูกหนี้ยังมีข้อจำกัด รวมถึงการประสบปัญหาหรือวิกฤตต่าง ๆ อาทิ ตกงาน
2) ปัญหาจากกลไกการชำระหนี้ของ กยศ. ที่กำหนดให้มีการชำระหนี้คืนรูปแบบเดียวเป็นขั้นบันไดและไม่สามารถปรับได้ ส่งผลให้ลูกหนี้บางส่วนไม่สามารถจ่ายชำระคืนได้หากประสบภาวะวิกฤต หรือเป็นภาระทางการเงินต่อลูกหนี้อย่างมาก
3) ปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฯ อาทิ ระเบียบ/กฎเกณฑ์ของกองทุนฯ ไม่เอื้อให้มีการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้กับกลุ่มลูกหนี้ที่มีคำพิพากษาแล้ว และลักษณะการไกล่เกลี่ยไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
และ 4) ปัญหาเชิงโครงสร้างของการศึกษา จากการเรียนในสาขาวิชาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้ลูกหนี้บางส่วนแม้เรียนจบแล้วแต่ยังก้าวไม่พ้นความยากจนหรือไม่สามารถยกระดับรายได้ขึ้นได้
จากปัญหาข้างต้น การแก้ไขปัญหาจึงอาจไม่ใช่การยกหนี้ หรือปรับให้กองทุนปลอดดอกเบี้ย
และค่าปรับผิดนัดชำระหนี้ เพราะหาก กยศ. ไม่คิดอัตราดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ภายในปี 2570 เงินสดคงเหลือสิ้นงวดของ กยศ. จะหายไปถึง 7.8 หมื่นล้านบาท
และอาจต้องปรับสถานะจากกองทุนหมุนเวียนไปใช้งบประมาณจากรัฐประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาทต่อปี
โดยในรายงานภาวะสังคม สภาพัฒน์ได้เขียนถึงแนวทางที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว 6 ข้อ คือ
1) กองทุนฯต้องดำเนินการเชิงรุกในการนำลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ มาเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ และไกล่เกลี่ย ก่อนฟ้องคดี เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เสียที่มีอยู่เดิม และเพื่อให้กองทุนฯ มีเสถียรภาพทางการเงินสำหรับให้กู้แก่เด็กรุ่นต่อไป
2) ปรับรูปแบบการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้และการทำงานของลูกหนี้
3) เพิ่มความรู้ทางการเงินโดยกำหนดให้ผู้กู้ยืมต้องฝึกอบรมและผ่านการทดสอบความรู้ทางการเงินของ กยศ. อย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้สถานศึกษาจัดทำหลักสูตรความรู้ทางการเงินภาคบังคับ
4) มีมาตรการสร้างแรงจูงใจการชำระหนี้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการดำเนินงานที่มีอยู่ อาทิ มีการส่งข้อความแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์ก่อนถึงกำหนดวันชำระหนี้
5) จัดทำข้อมูลลูกหนี้อย่างครอบคลุมเพื่อติดตามสถานะลูกหนี้ โดยลูกหนี้ต้องรายงานสถานการณ์ทำงานอย่างสม่ำเสมอ
และ 6) มีมาตรการเสริมสมรรถนะหรือทักษะอาชีพเพิ่มเติมให้ผู้กู้ยืมที่ยังไม่มีงานทำ
ที่มาข้อมูล สภาพัฒน์