อาสาฯฝนหลวงเร่งสำรวจแปลงเกษตรกรรม เพิ่มประสิทธิภาพปฏิบัติการ
กรมฝนหลวงฯ ขับเคลื่อนอาสาสมัครฝนหลวงทั่วประเทศ เตรียมออกสำรวจพื้นที่เกษตรกรรม ตรวจเช็คสภาพพื้นดินและร่วมสังเกตการณ์สภาพอากาศ พร้อมแจ้งหน่วยฝนหลวงเข้าปฏิบัติการทำฝนหลวงให้ตรงพื้นที่เป้าหมาย เพิ่มประสิทธิภาพบรรเทาภัยแห้งแล้งนอกเขตชลประทาน
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้อาสาสมัครฝนหลวงประจำศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศกว่า 500 คนได้เตรียมความพร้อมออกสำรวจความต้องการขอรับบริการฝนหลวงของเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประ ทานที่มีความต้องการใช้น้ำและมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้
พร้อมทั้งติดตามการเพาะปลูกในพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อให้ทราบถึงช่วงเวลาการปลูกของพืชแต่ละชนิด ช่วงเวลาที่ต้องการฝน ตลอดจนสังเกตการณ์สภาพอากาศและเมฆฝนในแต่ละพื้นที่ เพื่อส่งภาพและข้อมูมายังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภูมิภาค ในแต่ละภูมิภาคนำมาวิเคราะห์ และออกปฏิบัติการฝนหลวงได้อย่างพอเหมาะกับเวลาตรงเป้าหมายรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ (Real Time)
“เมื่อปฏิบัติการฝนหลวงแล้วเสร็จ อาสาสมัครฝนหลวงจะรวบรวมข้อมูลปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ส่งเป็นข้อมูลมายังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภูมิภาค หรือรายงานผ่านระบบอาสาแจ้งข่าวบนเวปไซต์ของกรมฝนหลวงฯ เพื่อ สนับสนุนการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในครั้งต่อไป” รองอธิบดีกรมฝนหลวงฯกล่าว
ทั้งนี้กรมฝนหลวงฯได้พัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครฝนหลวงมาอย่างต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 7 โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นอาสาสมัครฝนหลวงจะได้รับการอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัติการทำฝนหลวง และอุตุนิยมวิทยา เช่น ความรู้เกี่ยวกับลักษณะของเมฆที่ทำให้เกิดฝน การติดตามสภาพอากาศ การวัดปริมาณน้ำฝน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะได้รับการอบรมเรื่องการอนุรักษ์ดิน-น้ำ หลักสิทธิมนุษยชน การสื่อสารและการเผยแพร่ข่าวสารประชาสัมพันธ์ ดังนั้นอาสาสมัครฝนหลวงทุกคนมีจึงมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปฏิบัติการฝนหลวงและการให้บริการฝนหลวงในแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ทำให้การปฏิบัติการฝนหลวงตรงกับความต้องการของประชาชน อีกทั้งยังช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำฝนหลวงได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
นายสากล นารี อาสาสมัครฝนหลวงอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ตนเข้ารับการอบรมเพื่อเป็นอาสาสมัครฝนหลวงปี พ.ศ.2559 และได้นำความรู้ความเข้าใจไปใช้งานจริง เช่น ในปี 2560 บริเวณพื้นที่ปลูกนาในอำเภอปทุมรัตต์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน และอำเภอธวัชบุรี ข้าวเริ่มยืนต้นตาย และเมื่อได้รับบริการฝนหลวงทำให้ผลผลิตรอดพ้นจากความเสียหายได้ จากนั้นจึงทำหน้าที่อาสาสมัครฝนหลวงเรื่อยมา โดยในปีนี้ตนจะเริ่มลงสำรวจพื้นที่เกษตรโดยรวมในพื้นที่อำเภอเกษตรพิสัย ร่วมกับเครือข่ายอาสาสมัครฝนหลวงท่านอื่นที่อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างอำเภอเพื่อประเมินสถานการณ์ร่วมกัน แล้วจึงส่งข้อมูลอุณหภูมิ ภาพถ่ายท้องฟ้า ก้อนเมฆ เป็นต้น ไปที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงให้ดำเนินการต่อ
“การเป็นอาสาสมัครฝนหลวงเป็นอาชีพสำคัญของผมต่อจากอาชีพเกษตรกร เพราะเกษตรกรต้องการน้ำ หน้าที่ของผมคือประสานงาน ติดตามพื้นที่ ๆ ได้รับความเดือดร้อนให้ได้รับฝนหลวง และเมื่อมีน้ำเรายังสามารถปลูกผักสวนครัวไว้กินภายในครอบครัว และขายเป็นรายได้เสริม จึงรู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยกันแทนพ่อหลวง” นายสากลกล่าว