5 "พรรคการเมือง" หนุน เศรษฐกิจดิจิทัล รับมือวิกฤตอนาคต
5 "พรรคการเมือง" ใช้เวทีสัมมนา "NEXT STEP THAILAND 2023 ทิศทางแห่งอนาคต" ประสานเสียง หนุน "เศรษฐกิจดิจิทัล" รับมือวิกฤตอนาคต
(21 ธ.ค.2565) เครือเนชั่น นำโดย สปริงนิวส์ เนชั่นทีวี และโพสต์ทูเดย์ เปิดเวทีสัมมนา "NEXT STEP THAILAND 2023 ทิศทางแห่งอนาคต" ซึ่งมีการเชิญบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองเข้าร่วมแสดงวิศัยทัศน์ ในช่วง INNOVATION OF SUSTAINABILITY เพื่อประเทศไทยยั่งยืน
"พรรคเพื่อไทย" โดย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ได้นำเสนอแนวคิดของพรรคเพื่อไทย ต่อการสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน อันจะสร้างผลดีในระยะยาวต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เกิดการสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจโดย "เพื่อไทย"เสนอแนวคิด ด้วยการจัดตั้ง เขตเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ เขตเศรษฐกิจใหม่ โดยที่เขตเศรษฐกิจดังกล่าวที่ "เพื่อไทย" นำเสนอ คือกระบวนการส่วนหนึ่ง ในการสร้างพื้นฐานด้านดิจิตัลของประเทศให้เกิดความเข้มแข็ง
"เพื่อไทย" นำเสนอแนวคิดเรื่องนี้ บนเวทีสัมมนา "NEXT STEP THAILAND 2023 ทิศทางแห่งอนาคต" ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม แกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ จัดโดย โดย สปริงนิวส์ ,เนชั่นทีวี และโพสต์ทูเดย์ การนำเสนอแนวคิดของนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว เกิดขึ้นบนเวทีเดียวกับผู้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งประกอบด้วย นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า , นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล , คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัล ( digital economy ) เป็นทั้งโอกาสและวิกฤต ซึ่งพรรคเพื่อไทยตั้งเป้าในการสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศให้แข็งแกร่ง ให้ทุกคนมีกระเป๋าตังค์ดิจิทัล ,การจัดทำไอดี ให้กับทุกคน เพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การสร้าง DATA Center หรือแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ และที่ท้าทายมากที่สุด คือ การสร้างเขตเศรษฐกิจใหม่ มีการผลิตแรงงานหรือบุคลากร รองรับ จากที่มีอยู่ในขณะนี้ 4 แสนคน ต้องยกระดับสู่ 2 ล้านคน ใน 4 ปี รวมทั้งสร้างนักดิทัลที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนักบริหาร "เศรษฐกิจดิจิทัล เป็นทั้งโอกาสและวิกฤติ ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีความชัดเจนในการที่จะยกระดับความแข็งแกร่งทางด้านดิจิทัล ให้กับประเทศ" นายแพทย์ชลน่าน กล่าว
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า ขณะนี้สังคมกำลังพบกับความท้าทาย Chat GPT (OpenAI) ระบบปฏิบัติการที่มีผู้เข้าเยี่ยมชมและทดลองใช้กันนับล้านคน โดย AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่ สามารถตอบโต้บทการสนทนาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งตนได้ลองตั้งคำถามว่า "การเลือกตั้งครั้งหน้าประเทศไทยจะเลือกใคร " ก็ได้คำตอบว่า ไม่เหมาะสมที่จะตอบคำถามนี้ แต่ต้องศึกษานโยบายที่จะมาทำงานให้กับประชาชน แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าไปมาก จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ซึ่งพรรคชาติพัฒนากล้า มีนโยบายที่จะสร้างพื้นที่ทางด้านนี้ อย่างไรก็ตามอันดับแรกต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนระบบราชการและการเมือง
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลไทยเติบโตช้าที่สุด มีการลงทุนน้อยที่สุด สะท้อนให้เห็นว่าระบบนิเวศน์ดิจิทัลไทยมีปัญหา ในขณะที่งบประมาณนั้นมีเพียง 0.03% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งมองว่าไม่ตอบโจทย์ พรรคก้าวไกล เสนอหลักการ 3 มิติ คือ 1.พื้นฐาน ต้องมองไกลกว่าประเทศไทย ทั้งเรื่องกฎหมายให้ทันสมัย รวมถึงคุณภาพของอินเตอร์เน็ตและคลังบุคคลากร 2. สร้างเศรษฐกิจใหม่ และอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อรองรับ 3. เพิ่มงบประมาณ ที่จะเข้ามาสนับสนุนระบบ
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า เป้าหมายของพรรคไทยสร้างไทย คือ sustainable country การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และ digital society การพัฒนาสังคมดิจิทัล ต้องเกิดขึ้นให้ได้ภายในปี 2570 โดยแนวทางที่จะพัฒนา เริ่มจากการพัฒนาคน ปฏิวัติการศึกษา โดยต้องเน้นให้นักเรียนค้นพบตัวเอง และมีการลงทุนสร้างนวัตกรรมในการศึกษาทุกโรงเรียน
สร้างพลังอำนาจให้กับประชาชน ปลดล็อกกฎหมาย ปลดล็อกรัฐราชการ และยุติการคอรัปชั่น เพื่อทำให้เป็นรัฐบาลเปิด เพิ่มขีดความสามารถ ให้คนเข้าสู่ระบบ รวมถึงการพร้อม รองรับวิกฤติโลกพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส และรัฐต้องเข้าไปช่วยเพื่อสร้างประเทศที่ดีกว่าให้กับคนรุ่นหลัง ซึ่งพรรคไทยสร้างไทย ตั้งเป้าให้ ทั้ง 2 ส่วน ต้องเกิดขึ้นให้ได้ภายในปี 2570
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัล ( digital economy มีความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับทุกประเทศทั่วโลก และเป็นตัวสำคัญในการวัด การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ สิ่งที่จะต้องก้าวต่อไป ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของรัฐบาล หรือ พรรคประชาธิปัตย์ คือ ต้องเพิ่มสัดส่วน GDP ของ digital economy ซึ่งไทยยังตามหลังอีกหลายประเทศ รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศเพิ่มมากขึ้น
ต้องปรับตัวทั้งด้านบุคคลากร , กฎหมาย, เทคโนโลยี และที่สำคัญ คือ การสร้างความพร้อมรองรับกติกาโลกในอนาคต เพราะขณะนี้ กติกาโลกและข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลยังไม่มี แต่เชื่อว่าไม่ช้าก็เร็วจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน