ข่าว

ส่องเทรนด์ "ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ" 2023 วิดีโอสั้นมาแรงแซง แอปฯขายสินค้า

ส่องเทรนด์ "ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ" 2023 วิดีโอสั้นมาแรงแซง แอปฯขายสินค้า

01 ม.ค. 2566

ส่อง 12 เทรนด์ "ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ" 2023 อยากทำธุรกิจในปีนี้ปังต้องเช็ค ปี 66 ฟู้ดเดลิเวอรี่เติบโต วิดีโอสั้นจะมาแรงแซง แอปฯขายสินค้า

ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเพย์ โซลูชั่น จำกัด เเละ บริษัท ตลาด ดอท คอม กรุ๊ป จำกัด ผู้บุกเบิกวงการ e-Commerce เเละผู้สนับสนุนการพัฒนา Digital Technology ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึกออนไลน์ ถึงเทรนด์ "ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ" ในปีนี้และแนวทางการปรับตัวของกลุ่มผู้ประกอบการ และกลุ่มธุรกิจที่อาศัยแพลตฟอร์ออนไลน์ รวมไปถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคในปีนี้

 

 

โดย นายภาวุธ  กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการเติบโตของ "ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ" ในปีนี้นั้นจะเกิดการแข่งขันอย่างดุเดือดในรูปแบบการทำธุรกิจออนไลน์สูงมากกว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยตอนนี้เข้าสู่การ ขายของออนไลน์ เต็มรูปแบบ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

การระบาดของโควิด19 คนไทยสามารถเข้าถึงระบบออนไลน์อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่เราจะได้เห็นสำหรับการทำ "ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ" ในปีนี้คือการจัดโปรโมชันต่าง ๆ จะลดลง ร้านค้าออนไลน์จะทุ่มเม็ดเงินกับการลงทุนโปรโมทสินค้ามากยิ่งขึ้น

นายภาวุธ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มเทรนด์ "ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ" ที่ผู้ประกอบการ จะต้องโฟกัสเป็นพิเศษทำและต้องเตรียมพร้อมสำหรับเเผนกลยุทธ์ดิจิทัล เพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจ "ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ" ของไทย ในปี 2023 มีทั้งหมด 12 เทรนด์ ดังนี้

 

เทรนด์ที่ 1 มูลค่าการค้าออนไลน์ขยับขึ้น

เป็นการตอบรับการฟื้นตัวขออุตสาหกรรมท่องเที่ยวมูลค่าการค้าออนไลน์ กำลังดีดกลับขึ้นมาอีกครั้ง เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเริ่มมีการฟื้นตัว รวมถึงระบบนิเวศทั้งหลาย จากรายงานมูลค่า e-Commerce ในช่วงปี 2563 โดย ETDA ตัวเลขจะลดลงประมาณ 6.68% สาเหตุหลักเกิดจากตัวเลขของ e-Commerce ประเทศไทยมาจากการท่องเที่ยว การเดินทางสายการบิน และการผลิตต่าง ๆ คาดการณ์ว่าในปี 2566 มูลค่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ของไทยน่าจะกลับเป็นบวกแบบเต็มที่

 

เทรนด์ที่ 2 สงคราม e-marketplace กำลังจะจบลง

พราะ e-marketplace ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Lazada, Shopee กำลังเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนโหมดตัวเอง จากเน้น Growth โดยการใช้เงินลงทุนทำให้ตัวเองเติบโต ก็เริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองสู่ธุรกิจเพื่อทำกำไรอย่างชัดเจน หลายแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็น Lazada Shoppee จะเริ่มหันมาสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดจากที่เริ่มมีการเก็บเงินจากลูกค้าเเละร้านค้าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการปรับเพิ่มค่าบริการมากขึ้น

 

เทรนด์ที่ 3 สินค้าจีนบุกไทย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไทยมีผู้ให้บริการนำสินค้าจากจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก โครงสร้างการทำธุรกิจของจีนเริ่มเชื่อมต่อเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทางรถ ทางราง ทางน้ำ เอื้อต่อผู้ให้บริการสามารถส่งสินค้าจากจีนเข้ามาไทยได้ในไม่กี่วัน บางรายใช้เวลาเพียง 2-5 วันในการขนส่งสินค้า บางรายมีบริการ Warehouse ในประเทศไทย ดังนั้นในปีนี้เราจะได้เห็นกองทัพสินค้าจากจีนถูกส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่องมากขึ้น สินค้าจะถูกลงเพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานเหมือนสินค้าไทย  ดังนั้นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังมากยิ่งขึ้นคือการตรวจสอบมาตรฐาน และคุณภาพที่ภาครัฐจะต้องตรวจสอบอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ

 

 

เทรนด์ที่ 4 On-Demand Commerce สงครามการค้าออนไลน์รูปแบบใหม่

โดยจะเป็นการการแข่งขันการค้าลักษณะแฟลตฟอร์มจัดส่งอาหาร หรือ Food Delivery ที่คาดว่าจะเติบโตมากถึง 25-30%  ดังนั้นธุรกิจฟู้ดส์เดลิเวอร์รี่ จะต้องเริ่มเปลี่ยนตัวเองให้เป็นบริการที่มากกว่าอาหาร หรือที่เรียกว่า Beyond Food เพราะปัจจุบันผู้ให้บริการหลายรายมีการแข่งขันมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา จากธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือการเรียกรถ ได้มีบริการอื่นเพิ่มขึ้น เช่น Grab Mart, Grab Home เห็นได้ว่ามีการขยายฐานบริการ e-Commerce ซึ่งในปีหน้าเราคงได้เห็นกันมาก

 

เทรนด์ที่ 5 การบุกของ DFS (Digital Financial Service)  

บริการเงินทางออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ผู้ให้บริการเหล่านี้ที่เรียกว่า Non bank เช่น บริการรับชำระเงิน, บริการกู้เงินทางออนไลน์,บริการประกันออนไลน์,บริการดูแลความมั่งคั่ง ดูแลสินทรัพย์ออนไลน์ หรือ การโอนเงินออนไลน์โอนเงินต่างประเทศ เเละแนวโน้มการใช้บริการ Digital Financing เหล่านี้เริ่มมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันให้ e-Commerce ของประเทศไทยเติบโตมากขึ้น

 

 

 

เทรนด์ที่ 6 สงคราม Short Video Commerce

ปัจจุบัน Short Video หรือหรือการทำวีดีโอสั้น ๆ ในโซเชียลมีเดียว ของ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ กำลังดุเดือดมาก ไม่ว่าจะเป็น Tiktok, Youtube, Facebook เเละ Instagram ที่กระโดดลงมาเเข่งขัน หรือแม้แต่ผู้ให้บริการอย่าง Line ก็ลงมาเเข่งในสนาม Video เช่นกัน ดังนั้น กลยุทธ์จะไม่ได้ทำมาเพื่อให้บริการเฉพาะ Short video เพียงอย่างเดียว แต่มีบริการอื่นของ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เช่นการเปิดร้านค้าเข้ามาเสริมด้วย

 

 

เทรนด์ที่ 7 โฆษณาออนไลน์ที่มีทางเลือกมากขึ้น

ในหลายปีที่ผ่านมา โฆษณาออนไลน์ที่เป็นทางเลือกอันดับต้นๆ คือ Facebook ซึ่งปัจจุบันผู้โฆษณาหันไปทางเลือกอื่นเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่การโฆษณาผ่าน Facebook ประสบปัญหาของการได้ผลลัพธ์ที่น้อยลง ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Tiktok พัฒนารูปแบบการโฆษให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี แนวโน้มที่เกิดขึ้น คือแบรนด์เเละผู้โฆษณาจึงเริ่มเปลี่ยนไปโฆษณาผ่าน Tiktok เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อเสริมให้ลูกค้าขายของได้มากกว่าที่ผ่านมา

 

 

เทรนด์ที่ 8 การตลาดผ่านการบอกต่อ (Affiliate Marketing)

การตลาดผ่านการบอกต่อ กำลังเป็นเทรนด์ที่มีการเติบโตเพราะคนเริ่มเป็น Influencer คนเริ่มมีฐานลูกค้าตัวเองมากขึ้น Social Mediaเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรามีความสามารถบอกต่อสินค้าไปยังกลุ่มเพื่อน ๆ ของเราและเราเองสามารถได้ส่วนเเบ่งกำไรจากการที่สินค้าเหล่านั้นมีการขายได้เมื่อเพื่อน ๆทำการสั่งซื้อโดยแพลตฟอร์มอย่าง Tiktok เริ่มมีการผลักดันบริการ Affliate Marketing ที่ใช้การบอกต่อมากขึ้น

 

เทรนด์ที่ 9 “MarErce” 

คือ รูปเเบบการทำธุรกิจดิจิทัลที่อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ผสานเข้ากับมาร์เทค (MarTech) เราจะเรียกว่า “มาร์เอิร์ซ” จากเมื่อก่อนคนทำการตลาด(Marketing) จะเน้นเรื่องการตลาด และ คนค้าขายออนไลน์ (e-Commerce) ก็เน้นเรื่องการขายแต่ปัจจุบันจะไม่ใช่วิธีการเเบบเดิมอีกต่อไป ปัจจุบันนี้ Marketing กับ e-Commerceถูกผสานรวมเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ทำให้ตอนนี้ผู้ให้บริการด้านมาร์เทค (MarTech) ก็จะเริ่มมีแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่การทำการตลาดเท่านั้น แต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยทำให้เกิดออเดอร์ เกิดการซื้อขาย

 

เทรนด์ที่ 10 การแข่งขัน e-Commerce ในแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่

แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จะเริ่มแข่งขัน e-Commerce อย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, Tiktok ทุกคนเริ่มมีแพลตฟอร์มที่รองรับเเละส่งเสริม e-Commerce มากขึ้นซึ่งถือเป็นกลยุทธ์เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้ากระโดดข้ามไปใช้บริการของคู่แข่ง เช่น Facebook มี Facebook Shop, Facebook Live, Facebook Marketplace, Facebook Messenger, Line มี Line Chat, Line OA, Line Shop, Line Pay ฝั่ง Tiktok มี Tiktok Video, Tiktok Ads, Tiktok Shop ซึ่งจะทำให้เกิด e-Commerce ในแพลตฟอร์มใหญ่เพิ่มมากขึ้น

 

 

เทรนด์ที่ 11 การขาดดุลดิจิทัลของประเทศไทย

โดยมีการคาดการณ์ว่าอาจจะเก็บได้ถึงเกือบหมื่นล้านเมื่อครบปี นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้มูลค่าการซื้อ-ขายบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของคนไทยอาจจะขึ้นไปสูงถึงเกือบ ๆ 2 แสนล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการส่งออกข้าวในปี 2564รวมถึงสูงกว่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในปี 2564 เช่นกันจึงถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐควรต้องเริ่มเข้ามาดูแลสอดส่องว่าประเทศไทยเรามีการขาดดุลทางการค้าดิจิทัลอย่างไร และควรนำตัวเลขนี้ไปคำนวณ วิเคราะห์เรื่องของการขาดดุลของระบบประเทศไทยด้วยเช่นกัน

 

เทรนด์ที่ 12 D2C (Direct to Consumer) จะฆ่าตัวกลางทางการค้า

ในช่วงปีที่แล้วและปีนี้ Direct to Customer หรือการขายตรงไปยังผู้บริโภคการตัดตัวกลางออกไปจากห่วงโซ่ เป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับโรงงานผู้ผลิตต่าง ๆ หลายปีที่ผ่านมา โรงงานเริ่มขายของออนไลน์มากขึ้น ขายตรงไปยังผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบให้ธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นเริ่มถดถอย เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มซื้อสินค้าจากร้านในท้องถิ่นน้อยลงและหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ทำให้ในแง่ของธุรกิจท้องถิ่นจะมีผู้ที่เป็นตัวกลาง หมดโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าเพราะพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป