ข่าว

"ศักดิ์สยาม" สั่งสอบราคาป้าย "สถานีกลางบางซื่อ" 33 ล้าน รู้ผล 7 วัน

"ศักดิ์สยาม" สั่งสอบราคาป้าย "สถานีกลางบางซื่อ" 33 ล้าน รู้ผล 7 วัน

03 ม.ค. 2566

33 ล้านเป็นเหตุ "ศักดิ์สยาม" สั่งตรวจสอบ ราคาเปลี่ยนป้าย "สถานีกลางบางซื่อ" เป็น "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" รู้ผล 7 วัน

จากรณีที่ นายเติมพงษ์ เหมาะสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ แจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ ว่า ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้าง กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มูลค่าโครงการ 33,169,726.39 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

 

ซึ่งในรายละเอียดสัญญา เป็นการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จนกลายเป็นประเด็นดราม่า ว่าทำไมราคาการเปลี่ยนป้ายชื่อ มีมูลค่าสูงถึง 33 ล้านบาท

 

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

(3 ม.ค.2565) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ก่อนการเข้าร่วมประชุม ครม.นัดแรกของปี 2566 ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปตรวจสอบแล้ว แต่ป้ายมีขนาดใหญ่ ก็ต้องไปดูว่า ราคากับปริมาณงานเป็นอย่างไร เพราะเป็นป้ายทำพิเศษ ตัวหนังสือจะใหญ่อย่างที่เห็น ซึ่งรวมป้ายทั้งหมดในสถานีมีหลายรายการ

 

ส่วนที่หลายคนมองว่า ราคาค่อนข้างแพง นายศักดิ์สยาม ระบุว่า น่าจะมีการชี้แจงถึงการจัดซื้อจัดจ้าง โดยย้ำว่า มีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อยู่ ไม่ต้องไปกังวลในเรื่องนี้ ไม่สามารถทำอะไรได้แน่นอน ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก พร้อมกล่าวอีกว่า ได้มีการสั่งการไปแล้ว คาดว่า ไม่เกิน 7 วัน น่าจะทราบผล

 

หนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และมีหนังสือแจ้งจากสำนักพระราชวังถึงกระทรวง และ รฟท.ว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฯ และสถานีกลางบางซื่อ ดังนี้

 

  1. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า นครวิถี (Nakhon Withi) หมายถึงเส้นทางของเมือง
  2. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า ธานีรัถยา (Thani Ratthaya) หมายถึงเส้นทางของเมือง
  3. พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ อ่านว่า (Krung Thep Aphiwat Central Terminal) หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร

 

สถานีกลางบางซื่อ