อดีตผู้ว่าฯ สตง.ชี้ประมูลติดป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ" ส่อไม่ชอบมาพากล
อดีตผู้ว่าฯ สตง. ชี้ประมูลติดป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ" 33 ล้าน ส่อไม่ชอบมาพากล ถาม รฟท. มีความเร่งรีบอะไรต้องใช้วิธีเฉพาะเจาะจงหาผู้รับเหมา
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สัมภาษณ์กับ คมชัดลึกออนไลน์ ถึงกรณี ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ้างเอกชนปรับปรุงป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ" เป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตามโครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยราคา 33.16 ล้านบาท ว่า
สำหรับการจัดซื้อ จัดจ้าง เอกชนให้เข้ามาปรับปรุง และจัดทำป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ" ในครั้งนี้ ตนมีการตั้งข้อสังเกตการใช้วิธีเฉพาะเจาะจง เพื่อทำการคัดเลือกบริษัทเอกชนที่เข้ามารับงาน ซึ่งในขั้นตอนการประกวดราคานั้นเป็นเพียงการหาคู่เทียบเท่านั้น ตนเห็นว่าในขั้นตอนนี้ถือว่ามีความผิดปกติ เพราะถือว่าไม่มีการเปิดกว้างในการประมูลงาน
อีกทั้งการใช้วิธีแบบเฉพาะเจาะจงในการคัดเลือกเอกชนสามารถใช้ได้ในเฉพาะกรณีเร่งด่วนหากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหาย หรือมีความจำเป็นโดยฉุกเฉินเนื่องมาจากภัยพิบัติ เกิดโรคติดต่อร้ายแรง หรือเป็นพัสดุที่ได้ทำการจัดซื้อ จัดจ้างไว้ก่อนแล้ว หรือเป็นพัสดุที่ขายทอดตลอดโดยหน่วยานของรัฐ หรือหน่วยงานต่างประเทศ หรือเป็นวัสดุที่เป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเป็นต้องซื้อเฉพาะแห่ง โดยการดำเนินการหาผู้รับเหมาของ รฟท. นั้น ตนเห็นว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะสามารถใช้วิธีเฉพาะเจาะจงในการหาเอกชนเข้ามารับเหมา หรือ หาก รฟท. รู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ" ก็จะต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า
นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามจะต้องมีการพิจารณา TOR หรือ BOQ ซึ่งเป็นรายการแสดงปริมาณงานและราคาวัสดุก่อสร้าง ที่ถอดมาจากแบบก่อสร้างอย่างละเอียด ทั้งแบบสถาปัตยกรรม แบบวิศวกรรมโครงสร้าง และแบบวิศวกรรมงานระบบต่าง ๆ ว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เบื้องต้นตนมองว่าการจัดซื้อ จัดจ้างทำติดป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ" ในครั้งนี้อาจจะมีความไม่ชอบมาพากลอยู่ อย่างไรก็ตามหากตรวจสอบแล้วพบว่าการดำเนินการไม่ถูกต้อง รฟท. ก็จะต้องย้อนกลับไปดำเนินการเปิดประกวดราคาใหม่ โดยจะต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ราคาที่ต่ำลง และสมเหตุสมผลมากกว่านี้
"การใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนโดยวิธีการเฉพาะเจาะจงน่าจะใช่วิธีที่โปร่งใส่ เพราะไม่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับเหมารายอื่นได้เข้ามาเสนอราคา ดังนั้นหากหน่วยงานที่จะเข้าไปตรวจสอบจะต้องดูไปถึงว่าการเปิดประกวดราคาในครั้งนี้เป็นการกระทำที่กีดกั้นหรือเข้าข่ายการฮั้วประมูลหรือไม่ เพราะการที่ไม่ได้เปิดกว้างในการแข่งขัน ซึ่งจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อภาครัฐมากกว่า ส่วนตัวยังไม่เข้าใจว่าโครงการนี้จะต้องเร่งรีบอะไรหนักหนา" นายพิศิษฐ กล่าว