จาก "หัวลำโพง" สู่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เปิดหวูด 52 ขบวน
107 ปี รถไฟทางไกล จาก "หัวลำโพง" สู่ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" สถานีอัจริยะแห่งแรกในอาเซียน เปิดหวูด 52 ขบวน 19 ม.ค.2566
107 ปี ที่ "หัวลำโพง" หรือ สถานีรถไฟกรุงเทพ อยู่คู่กับคนไทย ก่อนจะยุติการให้บริการเป็นสถานีต้นทาง-ปลายทาง เพื่อนำพื้นที่กว่า 120 ไร่ ไปพัฒนาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แบบ "มิกซ์ยูส" ส่วนขบวนรถไฟทั้งหมด ให้ย้ายไปให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือ สถานีกลางบางซื่อ ที่กำลังมีดราม่า ราคาเปลี่ยนป้ายชื่ออยู่ในขณะนี้
ท่ามกลางเสียงคัดค้าน รวมถึงความไม่พร้อมในการให้บริการ จึงมีการปรับเปลี่ยนแผนใหม่ เป็นการย้ายเฉพาะขบวนรถเชิงพาณิชย์ รถไฟทางไกล ให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เท่านั้น ส่วนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถนำเที่ยวทุกเส้นทาง ยังคงให้บริการต้นทาง-ปลายทาง ที่สถานีหัวลำโพงเช่นเดิม
จากหัวลำโพง สู่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
1. สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ หัวลำโพง เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2453 ซึ่งเป็นปลายสมัยรัชกาลที่ 5 และเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ทรงทำพิธีกดปุ่มสัญญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่สถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2459
เส้นทางที่ออกจากสถานีกรุงเทพ จำนวน 4 สาย
1. ทางรถไฟสายเหนือ ต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ปลายทาง สถานีรถไฟเชียงใหม่ ระยะทาง 751.42 กิโลเมตร
2. ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระจะแยกออกเป็น 2 สาย ดังนี้
- ปลายทางสถานีรถไฟอุบลราชธานี ระยะทาง 575.10 กิโลเมตร
- ปลายทางสถานีรถไฟหนองคาย ระยะทาง 621.10 กิโลเมตร
3. ทางรถไฟสายตะวันออก ต้นทางสถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทราแล้วแยกออกเป็น 2 สาย คือ
- ปลายทางสถานีรถไฟอรัญประเทศ ระยะทาง 254.50 กิโลเมตร
- ปลายทางสถานีรถไฟบ้านพลูตาหลวง ระยะทาง 184.03 กิโลเมตร
4. ทางรถไฟสายใต้ ต้นทางสถานีกรุงเทพ และสถานีธนบุรี เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่แล้วแยกออกเป็น 2 สาย คือ
- ปลายทางสถานีรถไฟบัตเตอร์เวอร์ธ ประเทศมาเลเซีย ระยะทาง 973.84 กิโลเมตร (นับถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์)
- ปลายทางสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ระยะทาง 1,142.99 กิโลเมตร
2. ตลอดระยะเวลาที่เปิดบริการมา หัวลำโพง มีรถไฟประมาณ 200 ขบวนต่อวัน โดยมีผู้โดยสารที่มาใช้บริการที่สถานีกรุงเทพหลายหมื่นคน (ข้อมูลในปี พ.ศ. 2561) โดยเฉพาะช่วงวันสำคัญ และวันหยุดเนื่องในเทศกาลต่าง ๆ ของไทย เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ จะมีผู้โดยสารเป็นจำนวนมาก
รถไฟทางไกล "สายเหนือ อีสาน และใต้" 52 ขบวน โบกมือลา "หัวลำโพง"
3. วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2564 มีแผนยกเลิกการใช้งานสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ หัวลำโพง และเปลี่ยนไปใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือ สถานีกลางบางซื่อ เป็นจุดเริ่มต้นของรถไฟทุกขบวน หวังแก้ปัญหารถติด โดย รฟท.เตรียมปรับผังหัวลำโพงครั้งใหญ่ ให้กลายเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่สาธารณะในอนาคต ท่ามกลางเสียงคัดค้าน เพราะคิดว่าเป็นการปิดตัวหัวลำโพงอย่างถาวร
4. การพลิกฟื้น "หัวลำโพง" คาดหวังว่า จะเป็นแลนด์มาร์ค ขนาดใหญ่ใจกลางกรุง ที่ผสานฟังก์ชั่นของ Community Sapace กับ พื้นที่เชิงพาณิชยกรรม ไว้ด้วยกัน ผู้คนต่างสามารถใช้ประโยชน์ได้ ขณะเดียวกัน ก็ยังคงอัตลักษณ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ในฐานะสถานีรถไฟในตำนานคู่เมืองกรุงเทพฯ
5. วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565 มีแผนที่จะย้ายจุดเริ่มต้นของรถไฟทางไกล 28 ขบวน ไปที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ อีกครั้ง
6. วันที่ 1 พ.ย.2565 รฟท. ดีเดย์ เปิดบริการจำหน่ายตั๋วรถไฟที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เตรียมการย้ายขบวนรถทางไกล รถด่วน รถเร็วทุกสาย ยกเว้นสายตะวันออก จาก "หัวลำโพง" ไปสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
7. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือ สถานีกลางบางซื่อ ถูกตั้งเป้าให้เป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทย ทดแทนสถานีรถไฟกรุงเทพเดิม ที่จะยกเลิกลง เหลือเพียงสถานีรายทางของรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงเข้ม สถานีเปิดใช้งานอย่างไม่เป็นทางการในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยถือเป็นสถานีรถไฟกลางที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชานชาลามากถึง 26 ชานชาลา
8. นาม กรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทาน เพื่อเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของโครงการสถานีกลางบางซื่อ มีความหมายว่า "ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร"
9. มีประเด็นดราม่าเกิดขึ้น ภายหลัง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่าจ้างบริษัท ยูนิค เปลี่ยนป้ายชื่อ สถานีกลางบางซื่อ เป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ด้วยราคาสูงถึง33 ล้านบาท กลายเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยในราคาที่สูงเกินจริง จนสุดท้าย รฟท.ยอมถอย ยุติการเปลี่ยนป้ายชื่อออกไป
10. วันที่ 19 ม.ค.2566 ขบวนรถไฟทางไกล "สายเหนือ อีสาน และใต้" 52 ขบวน จะเข้าจอด ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ เตรียมเปิดหวูดเดินรถ ในเวลา 13.19 น. ด้วยขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA เดินรถจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีอยุธยา
สรุป
นับจากวันที่ 19 ม.ค. 2566 ขบวนรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือทุกขบวน จะวิ่งบนโครงสร้างทางยกระดับ เหมือนรถไฟสายสีแดง จะไม่เห็นขบวนรถไฟวิ่งบนระดับพื้นดินอีกแล้ว ตั้งแต่รังสิต-ดอนเมือง-บางเขน เมื่อยกรถไฟทุกขบวนขึ้นไปวิ่งข้างบน ก็จะไม่มีจุดตัดถนนอีกต่อไป ส่วนกลุ่มขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถนำเที่ยวทุกสาย ยังคงให้บริการต้นทาง-ปลายทางที่สถานีหัวลำโพงตามเดิม
นอกจากนี้ จะมีการยกเลิกป้ายหยุดรถไฟ กม.11, สถานีบางเขน, ที่หยุดรถไฟทุ่งสองห้อง, สถานีหลักสี่ และที่หยุดรถการเคหะ กม.19 ที่เป็นชานชาลาระดับพื้นดินทั้งหมดส่วนสถานีรถไฟดอนเมือง จะเปลี่ยนไปใช้สถานีรถไฟดอนเมืองยกระดับ แทนสถานีระดับพื้นดิน