ข่าว

พลิกที่นาร้าง สู่ 'สวนปาล์มคุณภาพ' เพิ่มอินทรียวัตถุ-ลดต้นทุนปุ๋ยเคมี

พลิกที่นาร้าง สู่ 'สวนปาล์มคุณภาพ' เพิ่มอินทรียวัตถุ-ลดต้นทุนปุ๋ยเคมี

16 ม.ค. 2566

ส่องเทคนิคทำสวนปาล์มคุณภาพ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ”โสฬส เดชมณี”เพิ่มอินทรียวัตถุจากทางใบลดต้นทุนใช้ปุ๋ยเคมี

ใครจะไปนึกว่าพื้นที่นาร้างปลูกพืชอะไรไม่ได้ในต.ศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ที่วันนี้กลายเป็นพื้นที่ทองคำ เป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันคุณภาพสูงของจังหวัด โดยฝีมือของเกษตรกรดีเด่นปี 2560 สาขาทำสวน”โสฬส เดชมณี” เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันวัย 64 ปี อดีตกรรมการผู้ทรงวุฒิ คณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ(กนป.)ปี 2563-65 และเจ้าของสวนปาล์มน้ำมันโสฬส ต้นแบบสวนปาล์มคุณภาพบนเนื้อที่ 44 ไร่ 

พลิกที่นาร้าง สู่ \'สวนปาล์มคุณภาพ\' เพิ่มอินทรียวัตถุ-ลดต้นทุนปุ๋ยเคมี

สวนปาล์มแห่งนี้ เดิมเป็นที่นาร้าง ก่อนปรับเปลี่ยนมาเป็นสวนปาล์มน้ำมันเมื่อกลางปี 2551 โดยการศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ยังไม่เคยมีใครปลูกปาล์มน้ำมันมาก่อน  

“ที่ปลูกเป็นพันธุ์ซีหราด แต่ไม่รู้เรื่องปาล์มเลย เพราะที่นี่เป็นที่ใหม่เรื่องปาล์ม  พอปลูกมันไปไม่ได้ไปไม่ถูก โชคดีได้เจอกับอ.ธีรพงศ์(จันทรนิยม)จากม.อ. มาเป็นที่ปรึกษานำหลักการของท่านมาปรับใช้กับสวนจนถึงวันนี้” เกษตรกรเจ้าของสวนปาล์มน้ำมันโสฬสย้อนอดีตให้ฟัง 

พลิกที่นาร้าง สู่ \'สวนปาล์มคุณภาพ\' เพิ่มอินทรียวัตถุ-ลดต้นทุนปุ๋ยเคมี

 โสฬสกล่าวถึงการทำสวนปาล์มคุณภาพว่าต้องควบคู่กับปริมาณด้วย เพราะหากได้ ปริมาณน้อยก็จะไม่ตอบโจทย์และไม่คุ้มค่าการลงทุน แต่การทำปาล์มให้มีคุณภาพได้ เจ้าของสวนจะต้องดูแลเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตและต้องทำอย่างต่อเนื่อง  เพราะในรอบการตัดปาล์มน้ำมันหนึ่งทะลายจะต้องใช้เวลาประมาณ 40 เดือนหรือกว่า 3 ปี

“ทำวันนี้เพื่อรออีก 3 ปีข้างหน้า ปาล์มเป็นเรื่องที่ต้องทำล่วงหน้าหมดเลย ฉะนั้นการตัดปาล์มสุกเพื่อให้ได้น้ำมันคุณภาพ ไม่ได้มาแก้ไขกันวันนี้แล้วจบ แต่ต้องทำล่วงหน้ามาก่อนหน้านี้ 40 เดือนแล้ว”

 

เจ้าของสวนปาล์มรายเดิมยอมรับว่าปุ๋ยเคมี มีส่วนสำคัญ ถือเป็นต้นทุนหลักในการผลิต  หลังจากปุ๋ยปรับขึ้นราคาเพิ่มจากเดิม 2-3 เท่าช่วงที่ผ่านมา  เกษตรกรแทบจะไม่มีกำไร เพราะค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่หมดไปกับค่าปุ๋ย  

พลิกที่นาร้าง สู่ \'สวนปาล์มคุณภาพ\' เพิ่มอินทรียวัตถุ-ลดต้นทุนปุ๋ยเคมี

“เดิมใช้แม่ปุ๋ย ใช้เอ็นพีเคและแมกนีเซียมโบรอน   ตอนนี้แม่ปุ๋ยราคาสูงมาก เราต้องมาปรับตัวด้วยการใช้หลักธาตุ อย่างการปูทางใบปาล์มในร่องสวนทำเพื่อปรับโครงสร้างดินภายใน 6 เดือนทางใบปาล์มเหล่านี้จะย่อยสลายหมดเลย จะช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ ผมทำมาเป็นสิบปีแล้ว ส่วนประโยชน์อื่นเช่นช่วยกำจัดวัชพืช ป้องกันชะล้างดิน เพิ่มอินทรียวัตถุในดินทำให้ดินมีรูพรุนมีอากาศมีธาตุอาหารต่าง ๆ โยงไปถึงค่าพีเอสด้วย แต่ถ้าเอามาสุมเป็นกองสูง ๆ เดี๋ยวก็มีงู มีหนู มาอาศัย แล้วการย่อยสลายก็ใช้เวลานานอีกด้วย”โสฬสเผย โดยปัจจุบันสวนปาล์มแห่งนี้ให้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 6.8-7.0 ตัน/ไร่/ปี  ถือว่าสูงกว่าสวนปาล์มทั่วไป ซึ่งปกติอยู่ที่ 3-4 ตัน/ไร่/ปี

 

ด้าน นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนปาล์มน้ำมันโสฬส โดยระบุว่านายโสฬส เดชมณี เป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ทำปาล์มคุณภาพจนประสบความสำเร็จ ซึ่งจากการพูดคุยก็พบว่าสวนปาล์มแห่งนี้ให้ผลผลิตดีและสม่ำเสมอ เป็นผลมาจากที่เจ้าของสวนเอาใจใส่ดูแล ไม่ว่าการใส่ปุ๋ย การจัดการพื้นที่สวนโดยใช้หลักอินทรียวัตถุต่าง ๆ มาใช้วิธีการบริหารจัดการง่าย ๆ แต่มีประสิทธิภาพสามารถลดต้นทุนไปได้ค่อนข้ามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใส่ปุ๋ยก็ยังมีเทคนิคหลายอย่าง 

 

ไม่ว่าจะเป็นการดูสภาพอากาศก่อนใส่ปุ๋ยป้องกันการถูกชะล้าง การใส่ปุ๋ยตามวงรอบและได้สัดส่วนปาล์มแม่นยำทำให้เห็นว่าการบริหารจัดกา โดยการเข้าไปดูแลอย่างจริงจังทุกขั้นตอน ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยสวนแห่งนี้ให้ผลผลิตสูงสุดอยู่ที่ 7 ตันต่อไร่ ทำให้ได้ราคาเพิ่มขึ้นและต้นทุนลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดปาล์มคุณภาพ ปาล์มสุกเต็มที่นอกจากได้น้ำมันที่ดี น้ำหนักดีแล้วยังจำหน่ายได้ราคาสูงอีกด้วย 

พลิกที่นาร้าง สู่ \'สวนปาล์มคุณภาพ\' เพิ่มอินทรียวัตถุ-ลดต้นทุนปุ๋ยเคมี

“สวนนี้เป็นปาล์มคุณภาพ ตัดแก่ดี ให้น้ำมันเยอะ ส่วนกรณีที่ราคามีการปรับลดลงมาบ้างนั้น สืบเนื่องจากช่วงนี้ต่างประเทศเองผลผลิตออกมามาก ทำให้ราคาปรับลดลง แต่ถึงอย่างไรก็อยากเชิญชวนเกษตรกรหันทำปาล์มคุณภาพกันให้มากขึ้น เพราะมันจะเป็นผลดีตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่แหล่งปลูกไปจนถึงการสกัดน้ำมัน การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ”อธิบดีกรมการค้าภายในย้ำทิ้งท้าย