เคาะต่ออายุ "ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล" ลิตรละ 5 บาทนาน 4 เดือน
ครม.เคาะต่ออายุ "ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล" ลิตรละ 5 บาทนาน 4 เดือน รัฐสูญเสียรายได้ประมาณเดือนละ 10,000 ล้านบาท
ที่ประชุมครม. เห็นชอบการต่ออายุมาตรการ "ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล" ลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 4 เดือน กระทรวงการคลัง ประเมินทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
โดยแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการต่ออายุมาตรการ "ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล" ลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 4 เดือน ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2566 - 20 พฤษภาคม 2566 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้ประชาชนจากปัญหาราคาน้ำมันแพง
ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้มีการต่ออายุมาตรการ "ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล" แล้ว 5 ครั้ง โดยจะหมดอายุลงในวันที่ 20 มกราคม นี้ ทั้งนี้การปรับลดภาษีสรรพสามิตรน้ำมันครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 6
อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังยอมรับว่า กรณีลด "ภาษีสรรพสามิตรน้ำมันน้ำมันดีเซล" ในรอบนี้ จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีไปประมาณเดือนละ 10,000 ล้านบาท รวม 4 เดือนเป็นเงิน 40,000 ล้านบาท
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยเป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกันในบัญชีพิกัดภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 01.05 รายการน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันและรายการน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่ โดยปรับอัตราภาษีลดลง ประมาณ 5 บาท/ลิตร ตามชนิดของน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2566 ถึง 20 พฤษภาคม 2566 โดยเป็นมาตรการต่อเนื่องตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา และจะสิ้นสุดในวันที่ 20 มกราคม 2566 นี้
ร่างกฎกระทรวงที่เสนอในครั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของรัฐ โดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมาตรการภาษีครั้งนี้ จะดำเนินการเป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือนจึงคาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนในภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันในครั้งนี้จะช่วยรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและภาคธุรกิจในระดับที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการปรับลดอัตราภาษี เพื่อให้ฐานะการคลังของประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐเป็นไปตามประมาณการการจัดเก็บรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า รัฐบาลดูแลมาตรการนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลพี่น้องประชาชน ในสถานการณ์ที่ราคาพลังงานของโลกยังคงผันผวนและสูงอยู่