"สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" เปิดหวูด รถไฟ 52 ขบวน เริ่มต้น สถานีอัจฉริยะ
รู้จักทุกมุม "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" หรือ สถานีกลางบางซื่อ เปิดหวูด รถไฟ 52 ขบวน เป็นครั้งแรก เริ่มต้น สถานีอัจฉริยะแห่งแรกในอาเซียน
สิ้นสุดอย่างเป็นทางการ สำหรับขบวนรถไฟทางไกล ขบวนรถเชิงพาณิชย์ ที่ให้บริการจากสถานีรถไฟ "หัวลำโพง" หรือ สถานีรถไฟกรุงเทพ มายาวนาน 107 ปี ก่อนย้ายไปให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือ สถานีกลางบางซื่อ ที่ถูกตั้งเป้าให้เป็นสถานีรถไฟหลัก โดยวันที่ 19 ม.ค.2566 ขบวนรถไฟทางไกล เหนือ ใต้ อีสาน กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว จำนวน 52 ขบวน จะเริ่มให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นครั้งแรก
สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือ สถานีกลางบางซื่อ แม้ป้ายชื่อจะยังไม่ถูกเปลี่ยน แต่เมื่อเปิดบริการครบทุกเส้นทาง สถานีแห่งนี้ จะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระบบรางที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย และของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกได้ว่าเป็น สถานีอัจฉริยะแห่งแรกในอาเซียน
1. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ก่อสร้างระหว่าง พ.ศ. 2556 ถึง 2564 ใช้งบประมาณในย่านสถานีทั้งสิ้น 34,142 ล้านบาท อาคารสถานีมีความยาว 596.6 เมตรความกว้าง 244 เมตร ความสูง 43 เมตร พื้นที่ใช้สอยในอาคารรวม 274,192 ตารางเมตร (ไม่รวมพื้นที่สถานีใต้ดิน) ออกแบบภูมิสถาปัตย์โดย บริษัท ดีไซน์ คอนเซปท์ จำกัดประกอบด้วย 26 ชานชาลา เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย 24 ชานชาลา และของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2 ชานชาลา ห้องน้ำถึง 700 ห้อง
2. นาม กรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเพื่อเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของโครงการสถานีกลางบางซื่อ มีความหมายว่า "ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร"
3. สถานีเปิดใช้งานอย่างไม่เป็นทางการ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยถือเป็นสถานีรถไฟกลางที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อเปิดบริการครบทุกเส้นทางสถานีแห่งนี้จะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระบบรางที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย และของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
4. อาคารสถานีมีทั้งหมด 7 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน ชั้นใต้ดิน 2 ชั้นฝั่งใต้ เป็นสถานีรถไฟฟ้ามหานคร ชั้นใต้ดินส่วนที่เหลือ 1 ชั้นเป็นลานจอดรถใต้ดิน ชั้นเหนือพื้นดินทั้งหมด ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนบริการรถไฟ และส่วนบริการผู้โดยสาร
5. ส่วนบริการรถไฟ ชั้นระดับดินเป็นห้องจำหน่วยตั๋วและโถงพักคอยผู้โดยสาร ชั้นที่สองให้บริการรถไฟรางหนึ่งเมตร ชั้นที่สามให้บริการรถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ส่วนบริการผู้โดยสาร ประกอบด้วย ชั้นระดับดินเป็นโถงต้อนรับ พื้นที่จำหน่ายบัตรโดยสารสำหรับรถไฟทางไกล และศูนย์อาหาร ชั้นลอยเป็นร้านค้า และชั้น 3 เป็นพื้นที่สำนักงาน
ประกอบด้วยสำนักงานใหญ่ของ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟที่ใช้ทางร่วม สำนักงานบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูง และพื้นที่รองรับแขกวีไอพี
6. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะแตกต่างจากสถานีกรุงเทพเดิม เนื่องจากถูกออกแบบให้เป็นสถานีระบบปิด มีระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด เทียบเท่ากับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผู้โดยสารที่ไม่มีตั๋วโดยสารรถไฟจะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบนชั้นชานชาลาของสถานีได้ ดังเช่นสถานีกรุงเทพเดิม เนื่องจากชั้นชานชาลาถือเป็นพื้นที่เขตหวงห้ามเด็ดขาด
ผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543
7. ก่อนจะเปิดปฐมฤกษ์ ก็มีประเด็นดรามาเกิดขึ้น เรื่องของการเปลี่ยนป้ายชื่อจาก สถานีกลางบางซื่อ เป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ด้วยราคาสูงถึง 33 ล้านบาท ที่กลายเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย ในราคาที่สูงเกินจริง จนสุดท้าย รฟท. ยอมถอย ยุติการเปลี่ยนป้ายชื่อออกไป
8. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เมื่อเปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว จะรองรับรถไฟทางไกลของการรถไฟแห่งประเทศไทยทุกเส้นทาง รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ระบบรถไฟความเร็วสูงทุกเส้นทาง รถไฟฟ้าเอราวันและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รวม 24 ชานชาลา
อีกทั้ง ยังเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง คุนหมิง - สิงคโปร์ ในเส้นทางหลัก ที่เป็นเส้นทางรถไฟจากสถานีรถไฟคุนหมิง ประเทศจีน ไปยังสถานีรถไฟจูล่งตะวันออก ประเทศสิงคโปร์ โดยผ่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสถานีชุมทางในการเปลี่ยนสายระหว่างช่วง กรุงเทพฯ - ลาว - จีน (สายอีสาน) และกรุงเทพฯ - มาเลเซีย - สิงคโปร์ (สายใต้)
9. ขบวนรถไฟทางไกล ที่ย้ายการให้บริการจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มายังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีทั้งหมด 52 ขบวน โดยขบวนแรกที่จะเดินทางออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ได้แก่ขบวนรถเร็วที่ 171 เส้นทาง สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สุไหงโก-ลก โดยจะออกเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ในเวลา 13.19 น. ส่วนขบวนที่เดินทางออกมาจากต่างจังหวัด และจะเข้าสู่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นขบวนแรก ได้แก่ ขบวนรถด่วนดีเซลรางที่ 72 เส้นทาง อุบลราชธานี-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
โดยจะเดินทางมาถึงในช่วงเวลา 15.00 น.
10. นับตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ขบวนรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือทุกขบวน จะวิ่งบนโครงสร้างทางยกระดับเหมือนรถไฟสายสีแดง จะไม่เห็นขบวนรถไฟวิ่งบนระดับพื้นดินอีกแล้ว ตั้งแต่รังสิต-ดอนเมือง-บางเขน เมื่อยกรถไฟทุกขบวนขึ้นไปวิ่งข้างบน ก็จะไม่มีจุดตัดถนนอีกต่อไป ตรงตามเป้าประสงค์หลัก ของการย้ายสถานีรถไฟทางไกลมาไว้ที่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แห่งนี้ ก็เพื่อที่จะให้ประชาชนสามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังทุกจุดหมาย และลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดในพื้นที่
กรุงเทพมหานคร