เปิด 7 มิติ วิสัยทัศน์ สุพิศ พิทักษ์ธรรม ว่าที่อธิบดี "กรมฝนหลวงฯ" คนใหม่
ผ่าวิสัยทัศน์ 7 มิติ วิสัยทัศน์ สุพิศ พิทักษ์ธรรม ว่าที่อธิบดี "กรมฝนหลวงฯ" คนใหม่ นำเทคโนโลยีพัฒนาระบบ ใช้ทรัพยากรณ์อย่างคุ้มค่า
"กรมฝนหลวงฯ" เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริดังกล่าวมาใช้ในการปฏิบัติงานตามภารกิจการทำฝนหลวง รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนและการดัดแปรสภาพอากาศ ให้เกิดเป็นฝนภายใต้แนวคิดพระราชทาน "ทำให้เมฆรวมตัวตกลงมาเป็นฝน" ตลอดจนภารกิจด้านการบินเกษตร
ในวันที่ 25 มกราคม 2566 นี้ กรมฝนหลวงฯ จะมีอายุครบ 10 ปี ภายใต้การนำของกัปตันคนใหม่ว่าที่อธิบดี "สุพิศ พิทักษ์ธรรม" รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะมีวิสัยทัศน์ที่จะบริหารงานนำองค์กรสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายและภารกิจภายใต้นโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรฯ และแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ โดย สุพิศ พิทักษ์ธรรม ว่าที่อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ได้กล่าวว่า
"การทำให้องค์กรพัฒนาสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายได้นั้น ผู้บริหารระดับอธิบดี รองอธิบดี มีส่วนสำคัญ จะต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า ต้องมีความคิดริเริ่ม คิดวางแผน รวมทั้งต้องหาปัจจัยมาเกื้อหนุน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติการนำไปดำเนินการ ในช่วง 2-3 ปีจากนี้ไป ผมวางแผนการทำงานไว้ 7 มิติ ที่จะนำกรมฝนหลวงและการบินเกษตรก้่าวไปสู่ความสำเร็จ"
โดยวิสัยทัศน์ ของอธิบดี "กรมฝนหลวงฯ" คนใหม่ทั้ง 7 มิติ มีดังนี้
มิติที่ 1 การปฏิบัติการฝนหลวงหรือการทำฝนหลวงต้องแบบ "เต็มอิ่ม" หมายถึง การระดมทรัพยากรทั้งเครื่องบิน บุคลากร และอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ขึ้นทำฝนในพื้นที่เป้าหมายทันทีที่สภาวะอากาศพร้อม ให้เพียงพอในเชิงปริมาณน้ำ ความชุ่มชื้น ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งจะทำให้ฝนตกได้ในปริมาณที่มากขึ้นสำเร็จตามวัตถุประสงค์ จากเดิมเวลาที่ขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวง จะใช้เครื่องบินชุดละ 2 ลำเท่านั้น และจะปฏิบัติการทำฝนหลวงกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ทำให้ได้ประสิทธิภาพไม่เต็มที่ หลังจากนี้กรมฝนหลวงฯจะปรับเปลี่ยนแนวทางขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงใหม่ หากพื้นที่ใดมีสภาวะอากาศเหมาะสม สามารถขึ้นทำฝนได้ตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ก็จะขึ้นปฏิบัติการโจมตี ก่อกวน ทำฝน หลวงเป็นทีมพร้อมกันหลายๆชุดทันที โดยจะใช้เครื่องบินหลายลำ ไม่ใช่แค่ 2 ลำ ซึ่งขณะนี้มีเครื่องบินพร้อมขึ้นปฏิบัติการกว่า 30 ลำ เมื่อปฏิบัติภารกิจทำฝนหลวงในพื้นที่แล้วเสร็จ หากมีพื้นที่เป้าหมายอื่นๆมีสภาวะอากาศเหมาะสมก็ย้ายไปปฏิบัติการทำฝนหลวงในพื้นที่นั้นๆ พร้อมกันเป็นทีมจำนวนหลายๆชุดทันที
"การเดินทางจากพื้นที่หนึ่งเพื่อไปปฏิบัติการทำฝนหลวงในอีกพื้นที่หนึ่ง จะใช้เวลาเดินทางไม่นาน ซึ่งการขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวงในลักษณะเช่นนี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดยอดศาสตร์การทำฝนหลวงให้เกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยมีตำราฝนหลวงพระราชทานเป็นแนวทางหลักหรือแนวทางตั้งต้น" นายสุพิศกล่าว
มิติที่2 นำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน เช่น การนำอากาศยานไร้นักบิน(UAV)หรือโดรนมาใช้ในการทำฝนและการตรวจสภาพอากาศแทนการยิงบอลลูน พัฒนาเทคโนโลยีในการโปรยสารทำฝนแบบอัตโนมัติแทนการใช้คนโปรย ปรับวิธีการบดสารฝนหลวงโดยใช้เครื่องจักร พร้อมวิธีจัดเก็บสารฝนหลวงที่คงสภาพเพื่อยืดอายุการใช้งาน ปรับเทคโนโลยีการลำเลียงสารทำฝนหลวงจากการใช้แรงงานคน มาเป็นการใช้รถโฟล์คลิฟท์ และใช้สายพานลำเลียงสินค้า (Conveyor) แทน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน ในขณะที่ต้นทุนในเรื่องบุคลากรและแรงงานลดลง ซึ่งจะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำฝนหลวงมากยิ่งขึ้น โดยต้นทุนการปฏิบัติการลดลงอย่างยั่งยืน และมั่นคง
มิติที่3ใช้ทรัพยากรให้มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยการกระจายต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) เช่น การใช้เครื่องบินแต่ละลำต้องปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้อย่างเอนกประสงค์ คุ้มค่า และใช้ประโยชน์ได้ทุกช่วงเวลา ในช่วงเวลาพักการทำฝนหลวง ก็สามารถนำไปใช้ในภารกิจหรือกิจกรรมอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็นการบินเพื่อปฏิบัติราชการของผู้บริหารในพื้นที่ห่างไกล การบินสำรวจพื้นที่การบริหารจัดการน้ำเพื่อการป้องกัน แก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง การบินสำรวจทางอากาศเพื่อการเกษตร เป็นต้น
มิติที่4มุ่งเน้นการเกิดงานวิจัย กรมฝนหลวงฯจะให้ความสำคัญกับงานวิจัย เพราะงานวิจัยจะสามารถตอบข้อสงสัย แก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผลเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งจะนำมาพัฒนาต่อยอดให้สามารถนำมาใช้งานได้จริง ทั้งที่เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับภารกิจโดยตรง เช่น การวิจัยเพื่อเพิ่มหรือปรับสูตรสารฝนหลวง การวิจัยปรับวิธีการทำฝนหรือดัดแปรสภาพอากาศ หรืองานวิจัยเพื่อนำไปใช้ในกระบวนงานสนับสนุน เช่น วิจัยเพื่อลดการใช้กำลังคนในการบด และโปรยสารทำฝนหลวง กระบวนงานพื้นฐานในการบริหาร เพื่อลดขั้นตอน ระยะเวลาดำเนินการ เป็นต้น
มิติที่5 ขยายเครือข่ายอาสาฝนหลวง อาสาสมัครฝนหลวงจะเป็นตัวแทนของกรมฝนหลวงฯได้ดีที่สุด ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารจากกรมฝนหลวงฯไปสู่ประชาชนในพื้นที่ และสะท้อนปัญหาในพื้นที่ย้อนกลับมายังกรมฝนหลวงฯ จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างถูกต้องและตรงกับเป้าประสงค์มากที่สุด รวมทั้งเป็นการขยายการรับรู้ สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้เกิดพฤติการณ์ "รู้เขา รู้เรา" ทั้งนี้กรมฝนหลวงฯ พิจารณาแนวทางให้ค่าตอบแทนแก่อาสาสมัครฝนหลวง จากเดิมที่ไม่มีค่าตอบแทน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานเป็นอาสาสมัครฝนหลวง โดยขณะนี้มีอาสาสมัครฝนหลวงอยู่ประมาณ 4,000 คน วางเป้าหมายที่จะขยายเพิ่มขึ้นให้ได้กว่า 10,000 คนทั่วประเทศ
มิติที่6 ปรับวัฒนธรรมองค์กร เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปรับเปลี่ยนใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมฝนหลวงฯ โดยสร้างวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมภายใต้เป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำหน้าที่ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เน้นการเรียนรู้ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน และมีความยืดหยุ่นในการทำงาน ในขณะเดียวกันผู้บริหารจะต้อง รับรู้ถึงความสำเร็จและให้ความสำคัญของพนักงานทุกคน รับฟังความคิดเห็น และสร้างการเป็นผู้นำตัวอย่างที่ดี
“ในการยกระดับคุณภาพชีวิตนั้น จะมีการปรับปรุงสถานที่ปฏิบัติงาน ให้น่าอยู่ น่าอาศัย จัดให้มีสวัสดิการที่พักข้าราชการ ซึ่งปัจจุบันกรมฝนหลวงฯในส่วนกลางยังไม่มีที่พักให้ข้าราชการ นอกจากนี้จะผลักดันให้มีสถานที่ออกกำลังกาย สวัสดิการร้านค้า เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานอยู่อย่างมีความสุข โดยมีแนวคิดเบื้องต้นที่จะขอตั้งงบประมาณเพื่อจัดสร้างอาคารรวมแบบ Government Complex ซึ่งประกอบด้วยที่ทำงาน ห้องชุด ที่จอดรถ ร้านค้า ที่อบรมสัมมนา โซนกีฬา ในอาคารเดียว โดยจะสร้างที่กรมฝนหลวงฯ รวมทั้งยังจะมีการสร้างศูนย์ฝึกอบรมการบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่จ.ตาก เพื่อใช้เป็นศูนย์ฝึกอบรม เพิ่มทักษะการบิน เพราะการบินเพื่อทำฝนหลวงนั้นจะบินไม่เหมือนการบินทั่วไป ต้องฝีกบินก่อน ต้องรู้หลักการโจมตี การก่อกวน และการเลี้ยงเมฆ ว่าจะดำเนินการบินอย่างไร ถึงจะประสบผลสำเร็จและปลอดภัย ไม่มีอันตราย รวมทั้งอาจจะต้องซื้อ เครื่องฝึกจำลองการบิน (Flight Simulator) มาใช้ในการฝึกบินด้วย" นายสุพิศกล่าว
มิติที่7 ยกระดับธรรมาภิบาลในภาครัฐ เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง จะต้องถูกต้องตามกฎระเบียบ ข้าราชการของกรมฝนหลวงฯทุกคนจะต้องไม่ถูกสอบสวนในเรื่องทุจริต การบริหารงบประมาณให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย เป็นธรรม มีการวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย เพื่อชั่งน้ำหนักเพื่อประโยชน์สูงสุดของราชการ ด้วย 6 หลักการคือ หลักคุณธรรม หลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส หลักความมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ หลักความคุ้มค่า เช่น ซื้อเครื่องบิน เครื่องจักรต่างๆ จะ ต้องใช้งานได้จริง มีอายุยาวนาน คุ้มค่ากับงบประมาณ เป็นต้น
"ความยิ่งใหญ่ของผู้นำนั้น จะต้องปราศจากข้อครหาเรื่องการคอรัปชั่น" ว่าที่อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกรกล่าวย้ำในตอนท้าย