"ตรึงราคาสินค้า" พาณิชย์เบรกขึ้นราคา นมผงเด็ก และปลากระป๋อง
"ตรึงราคาสินค้า" พาณิชย์เบรกขึ้นราคา นมผงเด็ก ปลากระป๋อง ส่วนนมถั่วเหลืองปรับขึ้นราคา 1-2 บาท/กล่อง ทำได้แต่ราคาต้องสอดคล้องต้นทุน
ด้วยสถานการณ์เงินเฟ้อที่ประสบอยู่ทั่วโลก ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศขยับตัวสูงขึ้นตาม กระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปกำกับดูแลราคา พร้อมกับ "ตรึงราคาสินค้า" อย่างเต็มที่ โดยได้ให้นโยบายและการดำเนินการใดให้ถือหลักทุกฝ่ายสามารถอยู่ได้ ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ให้เกิดความสมดุล ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย
นางสาว รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ ราคานมผง เลี้ยงเด็กแรกเกิด จะปรับราคาเพิ่มขึ้น 10% และปลากระป๋องปรับขึ้นราคากระป๋องละ 2 บาทนั้น ทางกรมการค้าภาย กระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า สินค้าทั้ง 2 รายการ เป็น สินค้าควบคุม
หากจะปรับราคาจะต้องยื่นขออนุญาตมายังกรมการค้าภายในเสียก่อน และทางกรมฯ ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตสินค้า "ตรึงราคาสินค้า" ในราคาเดิม เพื่อไม่ซ้ำเติมค่าครองชีพประชาชน และย้ำว่าขณะนี้ยังไม่มีการอนุมัติให้สินค้าทั้ง 2 รายการปรับขึ้นราคาจากราคาเดิม ส่วนราคาที่ขยับขึ้นบ้างขณะนี้ อาจเป็นการขอปรับส่วนลดทางการค้าของผู้ผลิตให้น้อยลง ทำให้ราคาจำหน่ายในท้องตลาดสูงขึ้น
ส่วนกรณีนมถั่วเหลืองจะปรับขึ้นราคากล่องละ 1-2 บาทนั้น เนื่องจากนมถั่วเหลืองเป็นสินค้าทางเลือก ไม่ใช่สินค้าควบคุมที่ต้องขออนุญาต แต่จะต้องกำหนดราคาให้สอดคล้องตามต้นทุนไม่ให้สูงเกินจริง ซึ่งกรมฯ ได้ประสานขอดูโครงสร้างต้นทุนว่าอัตราที่ปรับเหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนหรือไม่
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการ "ตรึงราคาสินค้า" และบริการควบคุมจำนวน 56 รายการ ซึ่งได้สั่งการให้ติดตามการปรับเปลี่ยนราคาอย่างใกล้ชิด โดยระบบของกรมการค้าภายใน ได้กำหนดแนวทางไว้ คือ สินค้าและบริการที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ เช่น เนื้อหมูชำแหละ ไก่สด น้ำมันพืช จะมีการติดตามราคาและภาวะทั้งในประเทศ และต่างประเทศเป็นประจำทุกวัน พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่สำนักตรวจสอบและปฏิบัติการตรวจสอบราคาจำหน่ายเข้มงวดและต่อเนื่อง ส่วนสินค้าสินค้าและบริการที่ต้องติดตามภาวะและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เช่น สบู่ น้ำยาล้างจาน อาหารปรุงสำเร็จ นมผง กระดาษชำระ
หากตรวจพบภาวะวิกฤตทางกรมอาจกำหนดมาตรการเพิ่มเติม ทั้งการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมเพิ่มเติม ควบคุมราคาขาย กำหนดให้ปันส่วน เป็นต้น มากไปกว่านั้น สินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น เช่น แชมพู สบู่เหลว หากจะมีการเปลี่ยนขนาดบรรจุ เปลี่ยนสูตร หรือเปลี่ยนกลิ่น เพื่อวางจำหน่ายใหม่ ผู้ประกอบการต้องแจ้งมายังกรมการค้าภายในให้ทราบทุกครั้งก่อนจะนำไปวางจำหน่ายไม่เช่นนั้นถือว่ามีความผิดตามระเบียบของกรมฯ