ข่าว

ครม.เคาะงบ 4.9 พันล้านก่อสร้าง 'มอเตอร์เวย์ M6' กระทบเปิดใช้งานล่าช้าไป 2 ปี

ครม.เคาะงบ 4.9 พันล้านก่อสร้าง 'มอเตอร์เวย์ M6' กระทบเปิดใช้งานล่าช้าไป 2 ปี

07 ก.พ. 2566

ครม.อนุมัติงบประมาณก่อสร้าง 4.9 พันล้านก่อสร้าง 'มอเตอร์เวย์ M6' บางปะอิน-สระบุรี-โคราช วงเงิน 4,970 ล้านบาท กระทบเปิดใช้ล่าช้า 2 ปี

'มอเตอร์เวย์ M6' ถนนเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหนคร และภาคอีสาน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเมกะโปรเจกต์ ที่ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 7-8 ปี จนถึงขณะนี้ถนน 'มอเตอร์เวย์ M6'  ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้อย่างเต็มรุปแบบตลอดเส้นทาง เนื่องจากยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ โดยเฉพาะในบางช่วงที่จะต้องปรับปรุงแบบก่อสร้างในบางช่วง

 

รวมไปถึงการก่อสร้างระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม พยายามที่จะเสนอของบประมาณเพิ่มเติมวงเงินราว 5,000 ล้านบาท เพื่อนำมาก่อสร้างให้เสร็จเรียบร้อย 100% โดยวงเงินดังกล่าวเป็นการของบเพิ่มเติมแต่ไม่ได้เกินกว่าวงเงินก่อสร้าง

ล่าสุด  น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 ก.พ. 2566 ได้อนุมัติการเพิ่มวงเงินงบประมาณและขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา 'มอเตอร์เวย์ M6' จำนวน 12 ตอน วงเงิน 4,970.71 ล้านบาท 

 

มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช

 

มีผลทำให้วงเงินค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้จะทำให้กรอบวงเงินค่าก่อสร้างทั้งโครงการรวมการก่อสร้าง 40 ตอนประมาณ 59,410.24 ล้านบาท รวมเป็น 64,380.95 ล้านบาท และวงเงินลงทุนรวมทั้งโครงการ (รวมค่าจัดการกรรมสิทธิ์ 6,630ล้านบาทซึ่งเบิกจ่ายเสร็จสิ้นแล้ว) เพิ่มจาก 66,040.24 ล้านบาท เป็น 72,795.90 ล้านบาท โดยวงเงินขอก่อสร้าง 'มอเตอร์เวย์ M6' เพิ่มเติมนั้น ยังอยู่ในกรอบที่ 76,600 ล้านบาท และต่ำกว่าค่าก่อสร้างรวมยังต่ำกว่าวงเงินค่าก่อสร้างที่ ครม. อนุมัติ 

 

มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช

 

สำหรับความจำเป็นที่ต้องขออนุมัติเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างดังกล่าว กระทรวงคมนาคมชี้แจงรายละเอียดว่า เนื่องจากมีงานก่อสร้างที่พบอุปสรรคจำเป็นต้องปรับปรุงแบบก่อสร้างให้เหมาะสมไม่ว่าจะเป็น  สภาพพื้นที่ในสถานที่ทำการก่อสร้างเปลี่ยนแปลงจากเดิม  มีความจำเป็นต้องปรับปรุงรูปแบบทางวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพของพื้นที่ในปัจจุบัน  ปรับปรุงให้เหมาะสอดคล้องกับโครงสร้างสาธารณูปโภคหรือความจำเป็นของหน่วยงานที่โครงการตัดผ่าน และ  ปรับปรุงรูปแบบการก่อสร้างเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่และให้สอดคล้องกับโครงข่ายถนนที่ประชาชนใช้ทางในปัจจุบัน 

 

มอตเรอ์เวย M6

 

กรณีที่กระทรวงคมนาคมขออนุมัติงบเพิ่มเติมนั้น ส่งผลให้การเปิดใช้งาน 'มอเตอร์เวย์ M6' จะมีความล้าช้า โดยคาดว่าจะสามารถเปิดทดลองวิ่ง ช่วงปากช่อง ถึง ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ในช่วงปลายปี 2566 รวมถึงการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) เพื่อเร่งรัดงานติดตั้งระบบต่างๆ เช่น ระบบจัดเก็บ ค่าผ่านทาง M-FLOW ระบบบริหารควบคุมการจราจร โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบระบบ พร้อมทยอยเปิดทดลองให้บริการได้ในปี 2567 และเปิดใช้บริการเส้นทางอย่างเต็มรูปแบบในปี 2568

 

มอเตอร์เวย์ M6


ทั้งนี้โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 หรือ 'มอเตอร์เวย์ M6'  สายบางปะอิน-นครราชสีมา หรือทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M6 มีระยะทางรวมประมาณ 196 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างในปี 2558 มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และไปสิ้นสุดที่บริเวณทางเลี่ยงเมืองจังหวัดนครราชสีมาด้านตะวันตก อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 

 

 

ขอบคุณภาพจาก: กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม