'ต่างชาติซื้อบ้าน' ในไทย เปิดข้อกฎหมาย ใครได้ประโยชน์กันแน่
'ต่างชาติซื้อบ้าน' ในประเทศไทย เปิดข้อกฎหมาย ใครได้ประโยชน์กันแน่ เมื่อ 'ทุนจีน' บุกกว้านซื้อที่ดิน สร้างหมู่บ้าน ผ่าน นอมินี
“ทุนจีน” กว้านซื้อที่ดินสร้างหมู่บ้านจัดสรร มูลค่าสูงนับพันล้านบาท ทั้ง โรงแรม-ร้านอาหาร ในตัวเมืองเชียงใหม่กว่า 100แห่ง ถูกซื้อกิจการเพียบ เป็นข่าวล่าสุด ที่ถูกเปิดโปงออกมา ถึงแม้ว่าจะฝังรากมานานหลายปีแล้วก็ตาม ไม่นับรวม ที่มีการกว้านซื้อบ้านหรู ย่านลาซาล 50 หลัง เกือบทั้งหมู่บ้าน โยงใยเครือข่าย “ตู้ห่าว”
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเปิดทางให้ “ต่างชาติซื้อที่ดิน” ได้ แต่ข้อกฎหมายระบุเอาไว้ชัดเจนว่า "ต่างชาติซื้อบ้าน" ในประเทศไทยไม่ได้ แล้วทำไมเราถึงเห็นชาวจีน ถือครองบ้าน และสร้างหมู่บ้านจัดสรร กันทั่วประเทศ
"ต่างชาติซื้อบ้าน" และ ถือครองที่ดินในไทยได้ดังนี้
- ซื้อคอนโดมีเนียมได้ไม่เกิน 49% ของพื้นที่ขายในแต่ละอาคาร เช่น คอนโด A อาคาร 1 มีจำนวน 1,000 ยูนิต จะขายให้ชาวต่างชาติได้ 490 ยูนิต หากชาวต่างชาติจะมาเกร็งกำไรกว้านซื้อ 1,000 ยูนิต ไม่สามารถทำได้
- ไม่สามารถมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินได้ แต่สามารถตั้งบริษัทไทยตามกฎหมายไทย เพื่อถือครองที่ดินในนามนิติบุคคลแทน แต่ที่ดินจะเป็นของบริษัทเท่านั้น ไม่ใช่ของชาวต่างชาติ
- เป็นเจ้าของที่ดินไม่ได้ แต่สามารถเช่าที่ดิน เพื่อสร้างบ้านได้ โดยชาวต่างชาติจะป็นเจ้าของเฉพาะตัวบ้านเท่านั้น โดยการขออนุญาตสร้างบ้านตามกฎหมายว่าด้วยควบคุมอาคาร
ต่างชาติถือครองที่ดิน ได้ในกรณีดังต่อไปนี้เท่านั้น
- ได้มรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ซึ่งรับได้ 2 กรณี สำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ สำหรับอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ไม่เกิน 10 ไร่
- ลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทในกิจการที่รัฐบาลกำหนด ระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี ถือครองได้ไม่เกิน 1 ไร่สำหรับอยู่อาศัย
- รับโอนที่ดินผ่านกฎหมายอื่นที่ส่งเสริมการลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทย
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ได้เพิ่มเติมหลักการในส่วนประเภทการลงทุน และระยะเวลาการดำรงการลงทุน (จาก 5 ปี ลดเหลือ 3 ปี) แตกต่างไปจากกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ. 2545 ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับร่างกฎหมายฉบับเพิ่มเติมนี้ ยังอยู่ในระหว่างการนำกลับไปทบทวนรายละเอียดอีกครั้ง หลังจากมีหลายฝ่ายกังวลว่า จะเอื้อต่อต่างชาติมากเกินไป จนส่งผลต่อคนไทยในอนาคต
ชาวจีนโอนกรรมสิทธิห้องชุดสูงสุด
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานภาพรวมสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศ ในช่วง 9 เดือน ปี 2565 พบว่า มีจำนวน 7,290 หน่วย เพิ่มขึ้น 19.0% มูลค่า 36,986 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% โดยชาวจีน เป็นสัญชาติที่มีการโอนห้องชุดมากที่สุดทั่วประเทศ จำนวน 3,562 หน่วย สัดส่วนสูงถึง 48.9% ของหน่วยทั้งหมด มูลค่าโอน17,943 ล้านบาท สูงถึง 48.5% ของมูลค่าทั้งหมด
หากดูข้อมูล 5 ปี ระหว่างช่วงปี 2561-2565 คนต่างชาติเข้ามาซื้อห้องชุดในประเทศไทยไปแล้วรวม 50,000 หน่วย มีมูลค่ากว่า 230,329 ล้านบาท โดยลูกค้าชาวจีน มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิสูงกว่า 124,000 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งตลาดห้องชุดถึง 50% ขณะที่จังหวัดที่มีจำนวนมูลค่าโอนกรรมสิทธิห้องชุดให้คนต่างชาติสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- กรุงเทพฯ
- ชลบุรี
- ภูเก็ต
- สมุทรปราการ
- เชียงใหม่
ทุนจีนรุกเชียงใหม่
นายนนท์ หิรัญเชรษฐ์สกุล นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่ภาคเหนือ เปิดเผยว่า กระแสชาวจีนเข้ามาซื้อบ้าน ในจังหวัดเชียงใหม่มีมานานกว่า 10 ปีแล้ว จนถึงปัจจุบันนี้ คาดว่าน่าจะมีชาวจีนเป็นเจ้าของบ้านจัดสรรมากกว่า 1,000 ยูนิต ราคาขั้นต่ำยูนิตละ 3 ล้านบาทขึ้นไป มูลค่าไม่น่าจะต่ำกว่า 3,000-5,000 ล้านบาท โดยกระจายไปยังโครงการต่างๆ ในย่านถนนวงแหวนรอบ 2 และถนนวงแหวนรอบ 3 ในพื้นที่อำเภอหางดง, อำเภอสันกำแพง, อำเภอสันทราย และอำเภอแม่ริม ซึ่งยังไม่รวมกับคอนโดมิเนียมอีกนับพันยูนิต ที่ถูกชาวจีนกว้านซื้อไปแล้วจำนวนมาก
เสียงที่สะท้อนออกมาพบว่า การเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่ของชาวจีนนั้น ร้อยละ 90 แทบจะไม่ได้คืนผลประโยชน์กลับมาให้กับภาครัฐ ทำให้สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับจำนวนมหาศาล เพราะชาวจีนจะใช้วิธีการชำระเงินที่ต้นทาง ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ได้นำเงินมาชำระในประเทศไทย โดยนิยมจะซื้อผ่านโปรกเกอร์ชาวจีนทางออนไลน์ ไม่ต้องเดินทางเข้ามาดูโครงการ ซึ่งที่ผ่านมามักจะมีการซื้อขายผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น ผ่านนอมินีที่เป็นคนไทยที่ไว้ใจได้, ผ่านนายหน้าอสังหาริมทรัพย์, ผ่านการทำธุรกิจลงทุนในประเทศไทยเกิน 40 ล้านบาท, ผ่านการจัดตั้งบริษัท, และผ่านการจดทะเบียนสมรสกับคนไทย จึงเป็นคำถามว่า "แล้วใครได้ประโยชน์"