'เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร' อ่วมราคาขายหน้าคอกลดฮวบสวนทางค่าอาหารหมูพุ่ง
"เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร" ในจังหวัดอุทัยธานี วอนรัฐบาลดูแลปัญหาราคาอาหารสุกรพุ่งขึ้นต่อเนื่อง สวนทางราคาขายสุกรหน้าคอกลดฮวบเหตุเจอพ่อค้ากดราคา
25 ก.พ.2566 ผู้สื่อข่าวสำรวจความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรใน อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจำนวนมากทั้งรายเล็กและรายใหญ่ หลังราคาสุกรเป็นหน้าคอกลดฮวบ จากกิโลกรัมละ 110-115 บาท เหลือเพียงกิโลกรัมละ 80 บาทเท่านั้น
เนื่องจากเกิดกระแสข่าวเนื้อสุกรเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้า ทำให้พ่อค้าที่เคยรับซื้อสุกกรหน้าคอกฉวยโอกาสกดราคาซื้อสุกรลงจากเดิมถึงกิโลกรัมละ 30-35 บาท แต่เกษตรกรก็ต้องจำใจขายอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากถึงกำหนดจับขาย หากไม่ขายในตอนนี้ก็ต้องเลี้ยงไว้ ทำให้กินทุนค่าอาหาร ขณะที่ค่าอาหารหมูก็ขยับขึ้นต่อเนื่องอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
นายธีรวัฒน์ ยิ้มช้อย อายุ 40 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี เปิดเผยว่าตนเลี้ยงสุกรเป็นอาชีพมา 12 ปี ปีนี้ถือว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาอาหารสุกรแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ราคาหน้าคอกที่ก่อนหน้านี้กิโลกรัมละ 110-115 บาท ถือว่ายังมีกำไร ยังอยู่กันได้
ปัจจุบันราคาหน้าคอกลดฮวบลงมาเหลือกิโลกรัมละ 80 บาท และมีแนวโน้มลดลงไปถึงกิโลกรัมละ 70 บาท ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อนกันอย่างถ้วน ต้องแบกรับต้นทุนและจำใจยอมขาดทุนกัน อย่างตนเองเลี้ยงสุกรครั้งละ 20 ตัว มีต้นทุนเป็นค่าพันธุ์หมูตัวละ 2,500 บาท รวม 20 ตัว เป็นเงิน 50,000 บาท ต้องเลี้ยงเป็นเวลา 4 เดือนจึงจะจับขายได้ เมื่อคิดค่าอาหารหมู 1 ตัว ไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ จะมีทุนทั้งค่าตัวและค่าอาหารรวม 8,000 - 8,500 บาท เลี้ยง 20 ตัวจะมีต้นทุนรวม 160,000 บาท
เมื่อถึงกำหนดขายแต่ขายได้เพียงกิโลกรัมละ 80 บาทเท่านั้น โดยหมูแต่ละตัวเฉลี่ยน้ำหนัก 110 กิโลกรัม เท่ากับได้ราคา 8,800 บาท รวม 20 ตัว ขายได้ 176,000 บาท แต่มีต้นทุนถึง 160,000 บาท เหลือกำไรเพียง 16,000 บาท คิดเป็นตัวได้กำไรตัวละ 300-500 บาท แต่ถือว่าไม่ได้กำไร เพราะต้องเสียค่าแรงและเสียเวลาถึง 4 เดือน
หากเป็นราคาก่อนหน้านี้จับขายได้กิโลกรัมละ 110-115 บาท ต่อตัวจะขายได้เฉลี่ยตัว 12,000-12,500 บาท กำไรตัวละ 3,500-3,700 บาท ถ้ารวม 20 ตัว จะจับขายได้เฉลี่ย 240,000 - 250,000 บาท เท่ากับกำไรหายไปกว่า 65,000 บาท แต่จำเป็นต้องจับขายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะราคามีแนวโน้มดิ่งลงแตะ 70 บาทต่อกิโลกรัม จึงไม่กล้าเสี่ยงรอราคา เนื่องจากต้องมีต้นทุนเป็นค่าอาหารสุกรอีก
เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร จึงอยากวอนผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาล ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศอย่างเร่งด่วนด้วย โดยเฉพาะเรื่องราคาอาหารสุกร ต้องราคาต่ำกว่านี้อีกมาก เกษตรกรจึงจะสามารถประกอบชีพเลี้ยงสุกรต่อไปได้ หากราคาอาหารสุกรยังแพงขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจจะต้องหยุดเลี้ยงสุกรไปก่อน