แก้ปัญหา 'พลังงาน' แพง 6 พรรคใหญ่เสนอทุบโครงสร้าง หยุดต่อสัญญาโรงไฟฟ้า
จี้แก้ปัญหา 'พลังงาน' แพงประชาชนแบกภาระทวีคูณ 6 พรรคใหญ่เสนอรัฐทุบโครงสร้างพลังงานเดิม หยุดต่อสัญญาโรงไฟฟ้าให้เอกชน ชูนโยบายใช้พลังงานทดแทน แก้ปัญหาอุตสาหกรรมใช้ถูก ประชาชนใช้แพง
ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ คปพ. ได้จัดเสวนา "พรรคการเมืองตอบประชาชน อนาคตพลังงานไทย" โดยมีพรรคการเมืองเข้าร่วม 6 พรรค ได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐพรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคไทยสร้างไทย และพรรคชาติพัฒนากล้า
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ กรรมการยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ และการเมือง พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า "พลังงาน" คือปัญหาใหญ่ของประเทศไทย นโยบายพลังงานจะเป็นนโยบายที่ชี้ขาดการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะพลังงานเป็นต้นทุนชีวิต และเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะปฏิรูป "พลังงาน" ไทยได้ต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่แข็งกล้า และชัดเจน และที่สำคัญ คือผู้นำของพรรคที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงาน ซึ่งตรงนี้พิสูจน์ แล้วว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้นำที่กล้าเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานจากการนั่งรักษาการนายกรัฐมนตรีเพียง 37 วัน โดยการประกาศเรื่อง Net Metering ซึ่งที่ผ่านมาการส่งเสริมโซล่าเซลล์ ไม่เคยประสบความสำเร็จ ไม่เคยถึงประชาชน แต่หากสานต่อเรื่อง Net Metering ก็จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง
- แก้ไขปัญหา "พลังงาน" อย่างเป็นธรรมและรอบด้าน หนุนรถ EV-โรงไฟฟ้าชุมชน
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทำนโยบายพลังงานที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งมาหลายเรื่อง ได้แก่ การตั้งคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม การดำเนินการลดราคาหน้าโรงกลั่น 50 สตางค์ การคืนค่ามัดจำมิเตอร์ไฟฟ้า และการผลักดันนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน แต่น่าเสียดายตนทำได้เพียง 1 ปี หลังจากออกมานโยบายต่าง ๆ ก็ไม่ได้คืบหน้า โดยเฉพาะเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางของพี่น้องประชาชน ผ่านมา 2 ปี ยังไม่ก่อเกิดผลลัพธ์ของพลังงานประชาชน อย่างที่คาดหวัง อย่างไรก็ตาม นโยบายทั้งหมดจะยังคงเป็นนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐจะสานต่ออย่างแน่นอน
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า นโยบาย "พลังงาน" ที่ พรรคพลังประชารัฐ จะขับเคลื่อน จะเป็นนโยบายพลังงานของประชาชน เพื่อประชาชน โดยจะครอบคลุมการบูรณาการ การแก้ปัญหาให้มีความเป็นธรรมอย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องน้ำมัน ไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ เช่น การปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมัน ยกเลิกราคาสมมติ ทำความร่วมมือกับเอกชนแก้ไขสิ่งที่มีความไม่เป็นธรรมซ่อนอยู่ ซึ่งต้องดูว่าเอาเปรียบประชาชนตรงไหน และอย่างไร การผลักดันเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยานยนต์ EV ผลักดันการแปลงรถยนต์สันดาบให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าด้วยการสนับสนุนของรัฐ เพื่อส่งเสริมการใช้ รถ EV และเร่งสร้างแรงจูงใจการใช้ รถ EV รวมถึงการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังจะมีการบริหารจัดการพืชพลังงานให้สอดรับกับกระแส Green Energy ของโลก เช่น การส่งเสริมการใช้พืชพลังงานผลิตน้ำมันเครื่องบิน หรือที่เรียกว่า Biojet
- แก้ปัญหาไฟฟ้าแพง แนะหยุดทำสัญญาโรงไฟฟ้าใหม่
ขณะที่ด้านไฟฟ้าจะผลักดันนโยบายไฟฟ้าของประชาชน เพื่อประชาชน เช่น ต่อยอดนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน การส่งเสริมโซล่าภาคประชาชน และ Net Metering เพื่อให้ประชาชนเป็นทั้งผู้ผลิตพลังงานใช้เอง และเป็นผู้ขายพลังงาน สร้างรายได้ทั้งในส่วนของครัวเรือนและชุมชน นอกจากนี้ นายสนธิรัตน์ ยังให้ความเห็นต่อการแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพง โดยแนะให้หยุดการทำสัญญาโรงไฟฟ้าใหม่ เพื่อไม่ให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และเป็นภาระค่าไฟฟ้าที่มาจากค่าพร้อมจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน
"จะแก้เรื่องไฟฟ้าส่วนเกิน ค่าไฟฟ้าส่วนเกินวันนี้คือสัญญาที่ทำไปแล้ว สิ่งแรกที่ท่านต้องเรียกร้อง และพูดให้ดังคือคัดค้านการเซ็นต์สัญญาโรงไฟฟ้าใหม่ตั้งแต่บัดนี้ เพื่อไม่ให้ค่าไฟฟ้าส่วนเกินเพิ่มขึ้นมาจากการที่กลุ่มเอกชนจะเซ็นต์สัญญาไฟฟ้าใน 2-3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง ไม่อย่างนั้นค่าไฟฟ้าส่วนเกินจะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา" นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาตินั้น ก๊าซของชาติ ประชาชน ต้องได้รับประโยชน์ก่อนภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซให้เป็นธรรม ซึ่งราคาก๊าซหุงต้มเป้าหมายราคา 350 บาทต่อถังมีความเป็นไปได้ สุดท้ายสิ่งที่จะต้องทำคือการจัดตั้งองค์กรจัดการทรัพยากรพลังงานของชาติ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรทางพลังงานของชาติถูกจัดการเพื่อประโยชน์ของชาติ และประชาชน ไม่ปล่อยให้ตกอยู่ในมือของกลุ่มทุน
- ค่าไฟแพง ประชาชนแบกภาระที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น
รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า การแก้ปัญหาค่าไฟแพงจำเป็นต้องทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร และเมื่อทราบว่าปัญหาเกิดตรงจุดไหน ก็สามารถแก้ได้ตรงจุด ซึ่งปัญหาค่าไฟแพงเกิดจากกำลังผลิตที่มากเกินความจำเป็น ต้นทุนที่ใช้สูงเกินไป ทั้งที่ความจริงคนไทยใช้ไฟอยู่ที่ 33,000 เมกะวัตต์ แต่ตอนนี้มีกำลังการผลิตถึง 50,500 เมกะวัตต์ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ต้นทุนที่สูง มาเรียกเก็บในบิลค่าไฟของประชาชน กลายเป็นภาระที่กำลังแบกทวีความรุนแรงขึ้น และในอนาคตอันใกล้จะมีโรงไฟฟ้าเข้าสู่ระบบอีกเรื่อยๆ
ดร.ชาลี กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของก๊าชที่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ มีราคาสูงกว่าก๊าชที่ได้จากประเทศไทย ถ้าเราพึ่ก๊าซมาก สุดท้ายก๊าชมีน้อย ราคาก๊าชแพงขึ้น ก๊าชจากอ่าวไทยควรได้ใช้ในประเทศไทยก่อนเป็นอันดับแรก แต่กลับถูกนำไปใช้ในปิโตรเลียมเคมีก่อน สรุปคือ ปิโตรเคมีใช้ถูก แต่ไฟฟ้าใช้แพง จึงมีคำถามไปถึงพรรคการเมืองต่างๆ ว่ามีทางแก้ไขอย่างไร โลกกำลังปฏิเสธฟอสซิล แต่ไทยกำลังเดินหน้าฟอสซิล โรงไฟฟ้า เกิดขึ้นมากมายกลายเป็นภาระประชาชน การออกแบบแผนพีดีพีสิ่งเหล่านี้ต้องมีคนรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าหากเกิดความผิดพลาด และจะทำอย่างไรให้ราคาก๊าชเหมาะสม
- ทุบโครงสร้างน้ำมันเดิม เพื่อลดราคาน้ำมัน
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า ราคาน้ำมันประเทศไทยอ้างอิงจากหน้าโรงกลั่นประเทศสิงคโปร์ ที่น้ำมันแพงเกิดจากการที่รัฐบาลยอมจำนนต่อระบบ ถ้าหากไม่มีการทุบโครงสร้างราคาน้ำมัน ก็จะไม่มีทางลดราคาได้ เดิมพยากรณ์และปรับทุกๆ 4 เดือนให้ปรับทุกๆ 2 เดือน เมื่อทุบโครงสร้างได้แล้ว ให้ออกกฎหมายเป็นพระราชกำหนด
- โครงสร้าง "พลังงาน" ไทยไม่ยุติธรรมอุตสาหกรรมใช้ถูก ประชาชนใช้แพง
น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ จากพรรคภูมิใจไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพฯ เขตพญาไท กล่าวว่า เรื่องพลังงานประเทศไทยต้องปฏิวัติ แต่การปฏิวัติภาคประชาชนสู้เพียงลำพังไม่ได้ เพราะในอนาคตโลกจะเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ วันนี้คนไทยโชคดีมีพลังงานแสงแดดที่ใช้ได้แบบไม่เสียเงิน สามารถผลิตใช้ได้เอง แต่โครงสร้างพลังงานอ้างอิงตลาดประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไม่ยุติธรรม ภาครัฐจัดสรรให้ภาคอุตสาหกรรมได้ใช้ก่อนภาคประชาชน อุตสาหกรรมได้ราคาถูก แต่ประชาชนได้ใช้ราคาแพง ยกตัวอย่างประเทศเวียดนามใช้เพียงแค่หน่วยละ 2 บาท อินโดนีเซีย 3 บาท แต่ประเทศไทยสูงถึง 5 บาท
"ถ้าหากพรรคภูมิใจไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นรัฐบาล สิ่งแรกที่ทำก็คือปฏิวัติปฏิรูปพลังงาน เดินหน้านโยบายใช้รถเมล์ไฟฟ้า เป้าหมายทั้งหมดรวมกับของเดิม 3,100 คัน ครอบคลุม 122 เส้นทางทั่วกรุงเทพมหานคร พร้อมกับแจกรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้" น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ กล่าว
- หนุนประชาชน โรงงาน ใช้ พลังงานทดแทน
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สถานการณ์ด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า ตอนนี้มีโรงงานไฟฟ้าเกิดขึ้นเกินความจำเป็น บางแห่งยังไม่ได้ผลิต แต่รัฐต้องจ่ายเงินให้ ส่วนนี้ต้องไปดูช่องทางจะชะลอการจ่ายเงินได้อย่างไร รวมถึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนใช้พลังงานทดแทน ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีจุดชาร์จไฟสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าอย่างกว้างขวางส่งเสริมให้รถราชการและรถโดยสารสาธารณะใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดมลพิษทางอากาศ ส่งเสริมการใช้การใช้พลังงานทดแทนในโรงงาน และนิคมอุตสาหกรรม สนับสนุนการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน เช่น ระบบการผลิต ระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตพลังงานทดแทน ส่งเสริมให้ชุมชน ครัวเรือนเป็นผู้ผลิตและบริหารจัดการพลังงาน ด้วยทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น เช่น ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ
- ปลดล็อคกฎหมายติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ลดต่อใบอนุญาตโรงไฟฟ้า
นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า รัฐบาลยุคนี้บริหารงานผิดพลาดในเรื่อง "พลังงาน" ขูดรีดเงินผ่านค่าไฟเอาไปจ่ายให้เอกชนเงินจำนวน 24,000 ล้านที่นำไปจ่ายโรงงานไฟฟ้าอยู่ในบิลค่าไฟของประชาชน ทางออกของเรื่องนี้คือต้องลดการต่อใบอนุญาตให้โรงไฟฟ้า คัดค้านโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ต้องรีบหยุดโรงไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นอีก 5,000 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันเราต้องรณรงค์ให้ประชาชนใช้พลังงานทดแทน โดยการติดแผงโซล่าเซลล์ ผลิตไฟฟ้าใช้เองทุกครัวเรือน แต่ประเทศไทยมีข้อจำกัดเรื่องการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เพราะมีกฎหมายคุมอยู่ ด้วยกฎหมายและขั้นตอนมีความยุ่งยากจึงทำให้ประชาชนจำยอมต้องใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า ดังนั้น ต้องยกเลิกกฎหมายการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ทั้งหมด มันคือระบบปรสิต เพราะนโยบายไม่ตอบโจทย์ประชาชน แต่ตอบโจทย์นายทุน