ข่าว

ศาลปกครอง 'ยกฟ้อง' คดีแก้ไขทีโออาร์ 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม'

ศาลปกครอง 'ยกฟ้อง' คดีแก้ไขทีโออาร์ 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม'

01 มี.ค. 2566

ทนายบีทีเอส ยังไม่ถอดใจ แม้ศาลปกครองสูงสุด พิพากษา 'ยกฟ้อง' คดีแก้ไขหลักเกณฑ์คัดเลือกประมูล 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' เชื่อไม่กระทบคดีอื่นอีก 3 คดี

 

นายโกสิทธิ์ ประสิทธิ์เวโรจน์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุว่าบีทีเอสรับทราบคำสั่งของยกฟ้องศาลปกครองสูงสุดในวันนี้แล้ว ซึ่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดวันนี้เป็นเรื่องอำนาจในการแก้ไขหลักเกณฑ์ในการประมูลครั้งก่อน โดยศาลระบุว่าไม่เป็นการกระทำที่ละเมิด รฟม. มีอำนาจในการแก้ไขหลักเกณฑ์ และไม่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนรวมถึงไม่ได้มีการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ

 

  “ขณะนี้ยังมีคดีฟ้องล้มการประมูลครั้งล่าสุดค้างอยู่ ฉะนั้นเราต้องรอติดตามผลคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดในคดีปัจจุบันต่อไป ทั้งนี้คดีปัจจุบันเป็นเรื่องการจัดประมูลขึ้นมาใหม่ที่มีหลักเกณฑ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้วก็ไม่มีผลกระทบต่อคดีอื่นที่ยังคงค้างอยู่” 

 

 

สำหรับคดีนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยขอให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชนโครงการดังกล่าว  

 

ส่วนคดีคงค้างที่ทางบีทีเอสยื่นฟ้องประกอบด้วย คดีที่ 1 หมายเลขดำที่ อ. 1455/2565 กรณีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีมีมติในคราวประชุม เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค.2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว ซึ่งคดีนี้องค์คณะได้มีการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2566 คาดว่าอีกไม่นานจะมีคำพิพากษา

 

 

   คดีที่ 2 คำร้องที่ 1525/2565 นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ และพรรคก้าวไกลฟ้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติและกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 ได้ออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในลักษณะที่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 โดยคดีนี้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา และผู้ฟ้องคดีได้มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งอยู่ระหว่างศาลปกครองสูงสุดจ่ายสำนวนคดีให้กับองค์คณะ

 

   และคดีที่ 3 หมายเลขดำที่ 1646/2565 กรณี บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯจำกัด (มหาชน) คณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม 2 คนกรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนโดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฉบับเดือน ก.ค.2563 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายและมติครม. แล้วจึงมีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งคดีนี้ศาลอยู่ระหว่างอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีขยายระยะเวลายื่นเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับค่าเสียหายออกไปจนถึงวันที่ 7 มี.ค.2566 หากไม่ยื่นในระยะเวลาดังกล่าวก็จะถือว่าไม่มีหลักฐานในส่วนนี้